สรุปรายละเอียด Ant Group ถูกรัฐบาลจีนสั่งแขวน IPO

This image has an empty alt attribute; its file name is 800px-enabling_ecommerce-_small_enterprises_global_players_39008130265_cropped.jpg

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

1. CNBC ระบุว่า ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง อาจจะเป็นผู้สั่งแขวน IPO หุ้น Ant Group ด้วยตัวเอง หรือไม่อย่างนั้นก็เป็นบุคคลระดับสูงในรัฐบาลที่ใกล้ชิดกับสีมากๆ

2. เชื่อกันว่า สาเหตุเกิดจากการที่ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา บริษัทต้นกำเนิดของ Ant ไปพูดจาล่วงเกินเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจีน เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ในอีเว้นท์ที่เซี่ยงไฮ้ ไม่กี่วันก่อน Ant Group จะ IPO

3. ว่ากันว่า รัฐบาลจีนเริ่มไม่สบายใจกับอิทธิพลมหาศาลของหม่าและอาลีบาบา ที่มีต่อระบบ digital payment ของจีน ผ่านแอพที่ชื่อว่า “จือฟู่เป่า” หรือ Alipay มาพักใหญ่แล้ว

4. นอกจากนี้ยังมองกันว่า สีจิ้นผิงไม่ต้องการให้ธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งมีทั้งทุนและอิทธิพลมหาศาลอย่างอาลีบาบา ก้าวขึ้นมาท้าทายอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์มากไปกว่านี้

5. คำพูดของแจ็ค หม่า ดังกล่าว เป็นการตำหนิความล้าหลังและกฏเกณฑ์ทางการเงินอันเข้มงวดของภาครัฐ ว่าได้ไปฉุดรั้งพัฒนาการทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสิ่งที่ Ant กำลังแข่งขันกับต่างชาติอย่างหนักหน่วง

6. ว่ากันว่าสีจิ้นผิงและบุคคลระดับสูงในรัฐบาลโกรธมากกับคำพูดของหม่า จึงสั่งให้มีการสอบสวนดีล IPO ของ Ant โดยละเอียด อันนำมาสู่คำสั่ง “แขวน” ในวันที่ 3 พ.ย.

7. คำสั่งที่ว่า นอกจากจะ “ช็อคโลก” แล้ว ยังสร้างความเสียหายหนักมากแก่บริษัท เพราะนักลงทุนทั่วโลกจ่ายเงินจองหุ้น Ant แล้วถึง 34,000 ล้านเหรียญ ทำให้บริษัทต้องคืนเงินทั้งหมด

8. ทั้งนี้ หาก Ant Group เข้า IPO ตามแผน จะทำให้บริษัทมีมูลค่าตลาดถึง 313,370 ล้านเหรียญ และเป็น IPO ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมูลค่าตลาดดังกล่าวสูงกว่า โกลด์แมน แซคส์ และ เวลส์ ฟาร์โก สองธนาคารยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เสียอีก

9. ปัจจุบัน มีประชากรจีนถึง 70% ใช้ Alipay นอกจากนี้ Ant ยังปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจขนาดเล็กถึง 20 ล้านราย ทั้งยังเป็นผู้บริหารกองทุนรวมขนาดใหญ่ที่สุดในจีน และมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ อีกมาก

10. แจ็ค หม่า กับ ครอบครัว เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับหนึ่งของประเทศจีน ด้วยทรัพย์สิน 58,800 ล้านเหรียญ ตามมาติดๆ ด้วย โพนี่ หม่า ผู้ก่อตั้ง Tencent เจ้าของ WeChat และ WeChatPay ที่เป็นคู่แข่งของ Alipay ซึ่งมีทรัพย์สิน 57,400 ล้านเหรียญ


ข้อมูลประกอบจาก CNBC

เมื่อ Tencent ปฏิเสธ “แม็คโดนัลด์จีน”

mcdonald

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

สำหรับธุรกิจที่ขยายขนาดกลายเป็น “conglomerate” หรือเครือบรรษัทยักษ์ใหญ่แล้วนั้น การเข้าซื้อ-ควบรวมกิจการแต่ละครั้ง ต้องทำอย่างระมัดระวัง โดยต้องให้สอดคล้องกับ “ภาพใหญ่” ของธุรกิจ มิให้หลุดไปจากตัวตนของตนเอง

เคสต่อไปนี้ ผมอ่านเจอใน นสพ.  Financial TImes เป็นบทความของ Henny Sender เห็นว่าน่าสนใจไม่น้อย จึงอยากเอามาเล่าต่อ

เรื่องของเรื่องก็คือ Tencent บริษัทไฮเทคจากแผ่นดินมังกร เจ้าของแอพ WeChat ที่เป็นเสมือนทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิตชาวจีนเวลานี้ เพิ่งได้รับข้อเสนอให้เข้าซื้อหุ้น “แม็คโดนัลด์จีน” (เป็นบริษัทที่ทำแฟรนไชส์ ไม่ใช่บริษัทแม่) จากกลุ่มคาร์ไลล์-ซิตี้กรุ๊ป สองกลุ่มบริษัทลงทุนซึ่งเพิ่งรวมพลังกันเข้าซื้อแม็คจีนมาหมาดๆ

ข้อเสนอดังกล่าว ดูๆ ไปแล้วก็น่าสนใจสำหรับ Tencent เพราะจะทำให้ลูกค้าแม็คโดนัลด์ในจีน 2,740 สาขา หันมาใช้ WeChat Pay ของ Tencent จ่ายซื้อเบอร์เกอร์ได้ เหมือนที่บริษัท Ant ในเครืออาลีบาบาเข้าซื้อหุ้น KFC จีน ช่วยดึงคนชอบกินไก่ให้จ่ายเงินผ่าน Alipay กระเป๋าตังค์ออนไลน์ในสังกัด แจ็ค หม่า มากขึ้นกว่าเดิม

ปรากฏว่า โทนี่ หม่า ผู้ก่อตั้ง Tencent ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เพราะไม่อยากถูกมองว่าไปท้ารบแบบเกะกะระรานกับอาลีบาบาในสิ่งที่ไม่จำเป็น เนื่องจากในช่วงหลังๆ ทั้งสองค่ายยักษ์ใหญ่ถูกมองว่าเป็นเสือกับสิงห์ (ไม่ใช่สิงห์กับช้าง) ที่ต้องทำสงครามกันเลือดเดือดไปทุกสมรภูมิ 

(และจะว่าไป การซื้อ KFC แม้จะเป็นดีลที่ colorful มากสำหรับอาลีบาบา แต่ก็แทบไม่ได้มีสาระสำคัญต่อตัวธุรกิจ)tencent-logo

นโยบายของ Tencent ช่วงหลังๆ จึงชัดมาก คือจะหลีกเลี่ยงสงครามที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับสมรภูมิรบในจีน

อย่างไรก็ตาม หากเป็นเรื่อง “ธุรกิจหลัก” บริษัทก็พร้อมจะ “สู้” อย่างไม่เกรงกลัว

โดยก่อนหน้านี้ Tencent เพิ่งร่วมกับ JD.com ผู้ค้าปลีกออนไลน์ซึ่งเป็นคู่แข่งเบอร์ใหญ่ของอาลีบาบาเข้าซื้อ Vipshop รีเทลออนไลน์สำคัญอีกรายหนึ่ง โดยลงทุนรวมกันเป็นเงิน 863 ล้านเหรียญ เข้าเก็บหุ้น 12.5 เปอร์เซ็นต์

จะเห็นได้ว่า Tencent เลือกเดินหมากที่เป็น strategic move คือเข้าลงทุนในธุรกิจที่มาเพิ่มยอดการชำระเงินผ่าน WeChatPay และเป็นการเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจ  e-commerce ขึ้นไปท้าทายอาลีบาบาที่เป็นผู้ครองบัลลังก์อยู่ และอีกทางหนึ่ง ก็เพื่อ diversify จากธุรกิจเกมออนไลน์ที่บริษัทครองตลาดแต่เพียงผู้เดียว ไปสู่อย่างอื่นๆ ที่ยั่งยืนกว่าด้วย

โดยสรุป การเดินหมากทางธุรกิจที่ชาญฉลาดนั้น ต้องเลือกเดินอย่างมีกลยุทธ์ ทำในสิ่งที่ช่วยเสริม “ภาพใหญ่” และเป็นประโยชน์แก่ธุรกิจหลักจริงๆ ไม่ใช่เปะปะท้ารบไปทั่ว

ซึ่งนอกจากจะเสียเงินเสียทองแล้ว ยังเสียสมาธิกับการแข่งขัน ไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย

—————————-

ข้อมูลประกอบ – Financial Times 21 December 2017 , Inside Business Technology by Henny Sender