วอร์เรน บัฟเฟตต์ ทำ DCF อย่างไร

Warren_Buffett_at_the_2015_SelectUSA_Investment_Summit

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนหมายเลขหนึ่งของโลกพูดเสมอว่า ในการค้นหาธุรกิจเพื่อเข้าลงทุน เขามักใช้การ “คิดลดกระแสเงินสด” ภาษาอังกฤษคือ Discounted Cash Flow หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “DCF” เป็นเครื่องมือหลัก

ปู่กล่าวไว้เมื่อปี 1991 ขณะไปสอนนักศึกษาปริญญาตรีที่นอเทรอดาม โดยบอกว่า

งานของผม คือการมองหาจักรวาลของสิ่งที่ผมเข้าใจ .. แล้วจึงหากระแสเงินสดที่เข้าและออก ว่าในระยะยาวมันจะเป็นอย่างไร .. จากนั้นจึงคิดลดกลับมา ณ อัตราที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นไปตามอัตราพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาล ผมจะพยายามซื้อมันในราคาที่ต่ำกว่านั้นมากๆ ทั้งหมดก็มีประมาณนี้ โดยทฤษฎีแล้ว ผมทำเช่นเดียวกันหมดกับทุกๆ ธุรกิจทั่วโลกที่ผมเข้าใจมันได้

สิ่งที่ปู่พูดมา ก็คือขั้นตอนในการประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธี DCF นั่นเอง

หนึ่งในกรณีศึกษาที่ปู่ใช้ DCF เพื่อเข้าลงทุน อันเป็น success story ที่เล่าขานกันต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ คือการซื้อหุ้นบริษัท วอชิงตัน โพสต์ หรือ WPC เจ้าของหนังสือพิมพ์เก่าแก่ของประเทศในปี 1973 หรือเมื่อ 45 ที่แล้ว

ในเวลานั้น บัฟเฟตต์บอกว่า เขาคำนวณ “มูลค่าโดยเนื้อแท้” หรือ intrinsic value ของบริษัทออกมาได้ 400-500 ล้านเหรียญ แต่ราคาตลาดของทั้งบริษัทเวลานั้นอยู่ที่ประมาณ 80-100 ล้านเหรียญ นั่นเท่ากับว่าตลาดหุ้นเอาบริษัทมาเสนอขายในราคาราวๆ “1 ใน 4” หรือ “1 ใน 5” ของมูลค่าแท้จริง

เมื่อรู้อย่างนี้ บัฟเฟตต์จึงกระโดดเข้าไปซื้อทันที โดยใช้เงินไป 10.6 ล้านเหรียญ เก็บหุ้นของบริษัทได้เกือบ 10%

หลังจากเข้าซื้อ ราคา WPC ก็ร่วงลงไปอีก จนปู่ขาดทุนไปกว่า 20% ทั้งๆ ที่กิจการยังคงเติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม คำกล่าวที่ว่า “คุณตลาดบ้าๆ บอๆ แต่เขาไม่ใช่คนโง่” ก็ปรากฏเป็นจริงขึ้นมาจนได้ เพราะหลังจากรออยู่นานถึงหนึ่งปีครึ่ง ตลาดก็เริ่มรับรู้ถึงความผิดพลาดในการตั้งราคาสถาบันสื่อเจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์จากคดีวอเตอร์เกทรายนี้ ราคาของมันจึงค่อยๆ ไต่ระดับกลับสู่มูลค่าแท้จริง

ในปี 1985 มูลค่าหุ้น WPC ในมือเบิร์คเชียร์ เพิ่มขึ้นจาก 10.6 ล้านเหรียญ เป็น 221 ล้านเหรียญ หรือราวๆ 21 เท่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การประเมินมูลค่ากิจการของปู่ด้วยวิธีคิดลดกระแสเงินสดนั้น ถูกต้องทุกประการ

และนี่คือตัวอย่างการทำ DCF สไตล์ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่คนอยากเป็น “วีไอพันธุ์แท้” ควรศึกษาไว้อย่างยิ่ง


** สนใจหลักสูตร DCF หุ้นโรงพยาบาล คลิกที่นี่

** สนใจหลักสูตร Valuation & DCF สอนประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธี DCF แบบเชิงลึกโดย Club VI คลิกที่นี่

สรุปไฮไลท์จาก วอร์เรน บัฟเฟตต์ ณ การประชุมผู้ถือหุ้น Berkshire Hathaway 2020

Warren_Buffett_at_the_2015_SelectUSA_Investment_Summit

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ผมได้สรุปไฮไลท์คำพูดของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ จากการประชุมผู้ถือหุ้น Berkshire Hathaway ปี 2020 เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา หลังจากแปลสดๆ ลงเพจ Club VI ไปก่อนหน้านี้ เอาแบบสั้นๆ กระชับ คัดเฉพาะเนื้อๆ มาให้อ่านกันนะครับ

เนื้อหาแบ่งออกเป็นสองช่วง ช่วงแรกมาจาก speech ที่ปู่บรรยายเพื่อเปิดการประชุม (ซึ่งแกจะทำอย่างนี้ทุกปี) และช่วงที่สองจะเป็นการตอบคำถามที่ส่งกันเข้ามาจากทางบ้าน เนื่องจากปีนี้เป็นปีแรก (และอาจจะเป็นปีเดียว) ที่ไม่มีผู้ถือหุ้นเข้าร่วม

ช่วงที่ 1  : speech เปิดงาน

1. ขอบคุณหมอ – ปู่บอกว่าอเมริกาโชคดีมากๆ ที่มี ดร.แอนโธนี ฟอซี ผอ.สถาบันควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ คอยอธิบายให้ข้อมูลเกี่ยวกับโคโรนาไวรัส ปู่บอกด้วยว่าตัวเองเก่งเลข แต่ห่วยมากเรื่องสุขภาพ ดีที่มี ดร.ฟอซี คอยอธิบายให้ฟัง แกรู้สึกขอบคุณและติดหนี้บุญคุณคุณหมอฟอซีเป็นอย่างยิ่ง

2. มองอเมริกาเป็นบวก – ปู่ยังมองอเมริกาเป็นบวกมาก (พูดซ้ำหลายครั้ง) โดยเปรียบสหรัฐฯ เป็นรถไฟขบวนหนึ่ง สมัยปี 2008-9 รถไฟขบวนนี้ตกราง ถนนหนทางก็ไม่ค่อยจะดี อันเนื่องมาจากปัญหาธนาคาร แต่ครั้งนี้รถไฟกลับมาวิ่งบนรางปกติแล้ว เราแค่หยุดมันชั่วไว้ครู่เท่านั้น

3. การสร้างมูลค่าของอเมริกา ปู่บอกว่าตั้งแต่แกจบมหาวิทยาลัย สหรัฐอเมริกาสามารถทำให้เงินทุกๆ 1 เหรียญกลายเป็น 100 เหรียญ เท่ากับว่าสหรัฐฯ เดินหน้าเต็มตัวเรื่อยมา

สหรัฐอเมริกาในปี 2020 มี wealth 100 ล้านล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 แสนเท่าจากเงินทุกๆ 1 เหรียญตอนที่ก่อตั้งประเทศ หากเทียบเป็นค่าเงินระดับเดียวกัน คือได้กำไร 5,000 เท่า

ดังนั้น ถ้าลองมองวิกฤต 2-3 เดือนที่ผ่านมา ต้องถือว่าเป็นเรื่องชั่วคราว และอเมริกาจะกลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งอย่างแน่นอน สิ่งที่คุณต้องทำก็เพียงเชื่อมั่นในอเมริกาเท่านั้น คุณต้องเชื่อว่ามหัศจรรย์แห่งอเมริกาจะไม่มีวันจางหาย

ปู่ย้ำว่า “อย่าเดิมพันตรงข้ามกับอเมริกา”

4. ย้อนถึง The Great Depressionปู่บอกว่าช่วง Great Depression มันแย่มาก รู้สึกยาวนานมากๆ และไม่มีใครคิดว่ามันจะจบ แต่แล้ววันหนึ่งเศรษฐกิจก็กลับมา

ปู่เล่าว่าช่วง Great Depression เงินในตลาดหุ้น 1,000 เหรียญ ลดเหลือ 170 เหรียญในเวลาแค่สองปี

Great Depression คงอยู่เป็นเวลานานหลายปี แต่ในความรู้สึกของผู้คนกลับนานยิ่งกว่านั้น แม้ว่าต่อมาเศรษฐกิจจะกลับมาได้ แต่ความกลัวในจิตใจของผู้คนยังไม่จางหายไป มันกลายเป็นเรื่องเล่าขาน พ่อแม่เล่าให้ลูกฟังถึงความน่ากลัวของวิกฤติครั้งนั้น

ดังนั้น สิ่งสำคัญในตอนนี้คือต้อง “อย่าเสียศรัทธากับประเทศ”

5. อย่าคาดเดาตลาด – ไม่มีใครรู้ว่าตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไรในวันพรุ่งนี้ สัปดาห์หน้า เดือนหน้า ปีหน้า รู้แต่ว่าอเมริกาจะก้าวหน้าไป ไม่มีใครรู้แน่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันที่ 10 .. 2001 (หลัง 9/11) เหมือนที่ไม่มีใครรู้ว่าไวรัสครั้งนี้จะเกิดขึ้น

ปู่บอกว่า คุณเดิมพันฝั่งเดียวกับอเมริกาได้เสมอ แต่ก็ต้องระวัง เพราะคุณเชื่อใจอเมริกาได้ก็จริง แต่เชื่อใจตลาดหุ้นไม่ได้ เนื่องจากตลาดสามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง

6. อย่ากู้เงินมาลงทุนปู่บอกว่า อย่ากู้เงิน อย่าใช้มาร์จิ้นมาลงทุนในวิกฤตโคโรนาไวรัสครั้งนี้ เนื่องจากมีความไม่แน่นอนสูงมาก มีปัจจัยต่างๆ ที่คาดเดาไม่ได้มากมาย ปู่บอกว่า มีเหตุผลทุกประการที่ควรลงทุนกับการก้าวหน้าไปของอเมริกา ยกเว้นการกู้เงินมาลงทุน

7. ซื้อ S&P 500 ดีที่สุด – ปู่ยังคงแนะนำเหมือนเดิมว่า สำหรับคนส่วนใหญ่ การถือกองทุนอิงดัชนี S&P 500 เป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว ดีกว่าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล และดีกว่าทำตามพรายกระซิบ

8. เชื่อมั่นประธานเฟด – ปู่เชื่อมั่นในตัวประธานเฟด เจโรม พาวเวลล์ โดยยกไว้ในระดับเดียวกับ พอล โวลค์เกอร์ ซึ่งเป็นอดีต ปธ. อีกคนที่แกชื่นชม เนื่องจากพาวเวลล์เทคแอ็คชั่นตั้งแต่กลาง มี.ค. ซึ่งน่าจะเป็นการปรับเอาบทเรียนจาก 2008-9 มาใช้ ถ้าวันนั้นเฟดไม่ลงมือรวดเร็วและเด็ดขาด วันนี้คงแย่กว่านั้นเยอะ

9. ยอมรับความผิดพลาดที่ลงทุนในสายการบิน – อันนี้สำคัญมาก ปู่บอกว่าแกทำ “ความผิดพลาดที่เข้าใจได้” ด้วยการเข้าซื้อหุ้นสายการบินทั้งสี่ “ตอนที่เราซื้อ (หุ้นสายการบิน) เรากำลังจะได้เงินก้อนโตจากการลงทุนในหลายๆ สายการบิน” แต่แล้ว “กลับกลายเป็นว่าผมคิดผิดเกี่ยวกับตัวธุรกิจ” โดยปู่ไม่ได้โทษ CEO ของทั้งสี่สายการบินแต่อย่างใด เนื่องจากวิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่ความผิดของพวกเขา แต่เป็นสิ่งที่ไม่คาดฝัน

10. ไม่รู้อนาคตธุรกิจการบิน – ที่ผมมองว่าน่าสนใจที่สุดก็คือ ปู่มองอนาคตสายการบิน “เป็นลบ” โดยบอกว่า แม้ 3-4 ปีต่อจากนี้ ก็ไม่รู้ว่าคนจะกลับมาบินมากเหมือนเดิมหรือไม่ และเครื่องบินก็มีอยู่เยอะแยะ (สืบเนื่องจากปู่ ตามหลักวีไอ ต้องบอกว่า “พื้นฐานเปลี่ยน” แล้ว สำหรับธุรกิจสายการบิน และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบินด้วย)

P071811PS-0254_(5951720542)

ช่วงที่ 2 : ตอบคำถาม

11. ขายหุ้นสายการบินทั้งหมดแล้ว – อันนี้ฮือฮาที่สุด คือ ปู่ยอมรับว่าขายหุ้นสายการบินทั้งหมดแล้ว โดยขายไปเป็นเงิน 6,509 ล้านเหรียญ “โลกเปลี่ยนไปแล้วสำหรับสายการบิน และผมก็ไม่รู้ว่ามันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ผมหวังว่ามันจะแก้ไขตัวเองได้ด้วยวิธีที่รวดเร็ว” และ “ผมไม่รู้ว่าคนอเมริกันเปลี่ยนนิสัยหรือจะเปลี่ยนนิสัย (เกี่ยวกับการบิน) หรือไม่” ปู่บอกว่า มีหลายอุตสาหกรรมที่กระทบจากวิกฤตโคโรนาไวรัส และสายการบินก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เจ็บหนักมากจนควบคุมไม่ได้

12. ทำไมไม่ซื้ออะไรสักที – ต่อข้อสงสัยว่าทำไมหุ้นลงมาขนาดนี้แล้ว เงินสดก็เหลือเยอะแยะ แต่ไม่ยอมทำอะไรสักที ปู่บอกว่า “เรายังไม่ทำอะไร เพราะเราไม่เห็นอะไรน่าสนใจ” แต่ก็บอกด้วยว่า แกพร้อมจะลงทุนครั้งใหญ่ อาจจะ 30,000 40,000 หรือ 50,000 ล้านเหรียญ ทันทีที่เห็นโอกาสที่น่าลงทุน แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นเลย โดยล่าสุด BRK มีเงินสดถึง 137,000 ล้านเหรียญ

13. อนาคตของ Berkshire – เกร็ก อาเบล รองประธานฝ่ายธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับประกัน ซึ่งปีนี้ขึ้นมานั่งคู่บัฟเฟตต์แทน ชาร์ลี มังเกอร์ บอกว่า ไม่ว่าบัฟเฟตต์และมังเกอร์จะอยู่หรือไม่ วัฒนธรรมองค์กรของ Berkshire ก็จะไม่เปลี่ยน “เราไม่มีใครดีกว่าวอร์เรนและชาร์ลี แต่เรามีทีมที่เก่งเทียบเท่ากันที่เบิร์คเชียร์” (เรื่องมุมมองต่ออนาคตของ BRK แนะนำอ่านหนังสือ Berkshire Beyond Buffett ของ ศ.ลอว์เรนซ์ คันนิงแฮม ที่ผมเป็นผู้แปล ดีมากๆ และลึกที่สุดแล้ว – ชัชวนันท์)

14. ทายาทของปู่ – เกี่ยวกับเรื่องทายาทที่จะมารับไม้ต่อจากบัฟเฟตต์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคำถามหลักที่คนอยากรู้ โดยเฉพาะเมื่อ ชาร์ลี มังเกอร์ รองประธานวัย 96 ไม่ได้มานั่งตอบคำถามในปีนี้ และเป็นครั้งแรกที่มังเกอร์ไม่มา ปู่ยืนยันว่า ตัวแกและ “ปู่มัง” ยังแข็งแรง แถมบอกด้วยว่า ตอนนี้มังเกอร์ใช้ Zoom ประชุมเป็นแล้วด้วย

สำหรับคนที่จะมาแทนแกนั้น ปู่บอกรายชื่อออกมาสามคน คือ เกร็ก อาเบล (รองประธานฯ ที่มานั่งข้างแกแทนมังเกอร์วันนี้) และสองขุนพล ท็อดด์ คอมบ์ส กับ เท็ด เวลช์เลอร์ อย่างไรก็ตาม ปู่บอกว่า “เราจะไม่สมัครใจยอมจากไปไหน แต่เราอาจจะต้องไปโดยไม่สมัครใจในเวลาไม่นานนัก”

ตรงนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ในมุมมองของผม เพราะ เป็นครั้งแรกที่บัฟเฟตต์แย้มชื่อออกมาชัดเจนที่สุดแล้ว โดยตัดเหลือสามคน และเป็นครั้งแรกที่แกพูดทีเล่นทีจริงทำนองว่า ตัวแกกับมังเกอร์อาจจะต้องจากไปในเวลาไม่นาน หลังจากก่อนหน้านี้เคยบอกมาตลอดว่าจะทำงานจน “จำหน้ากันและกันไม่ได้”

15. การแตกบริษัท – ปู่บอกว่า จะไม่ “แตก” Berkshire ออกเป็นบริษัทย่อยๆ เพราะแม้บางคนมองว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้น แต่มันจะโดนภาษีและค่าธรรมเนียมมากมาย ปู่บอกว่า แกคิดทุกอย่างมาดีแล้ว การเก็บ Berkshire ไว้เป็นกลุ่มบริษัท (conglomerate) อย่างนี้ นอกจากจะทำให้เงินทั้งหมดที่ Berkshire ทำได้กลายเป็นของการกุศลแล้ว ยังทำให้พวก “สุนัขจิ้งจอก” เข้ามายุ่มย่ามไม่ได้

16. การซื้อหุ้นคืน – ต่อข้อถามว่า จะซื้อหุ้น BRK คืนหรือไม่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคำถามที่คนสงสัยกันมาก เพราะปู่ชอบการซื้อหุ้นคืนเมื่อมันต่ำกว่ามูลค่า แต่ที่ผ่านมากลับซื้อคืนน้อยมาก ทั้งที่ตลาดลงมาเยอะ

ปู่บอกว่า ตอนนี้มีกระแสไม่ชอบการซื้อหุ้นคืนเยอะมาก “มีคนพูดอะไรบ้าๆ เกี่ยวกับการซื้อหุ้นคืนกันมากมาย” ทั้งที่จริงแล้ว การซื้อหุ้นคืนเป็นสิ่งที่เรียบง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย มันคือการส่งมอบเงินสดคืนให้ผู้ถือหุ้น อย่างไรก็ตาม ถ้า BRK จะซื้อหุ้น ก็ต้องทำโดยคำนึงถึงราคาและความจำเป็นให้มากที่สุด และเมื่อสถานการณ์มันใช่จึงจะทำ โดยต้องไม่ให้ผู้ถือหุ้นเสียประโยชน์เหมือนการจ่ายปันผล (ที่ต้องถูกหักภาษี)

นอกจากนี้ แกยังเสริมอีกว่า ที่ซื้อหุ้นคืนน้อยมากในช่วง Q1 (ซื้อคืนแค่ 1,700 ล้าน เมื่อเทียบกับเงินสด 137,000 ล้านที่มี) ตอนที่ตลาดหุ้นถล่มลงมานั้น เป็นเพราะราคายังไม่ถูกพอ “ราคาตอนนั้นยังไม่ได้อยู่ในระดับที่รู้สึกว่า มันดีกว่าเยอะเมื่อเทียบกับสิ่งอื่นๆ รวมทั้งเมื่อคำนึงถึงมูลค่าของเงิน พอที่จะให้เราลงมือครั้งใหญ่ได้”

สรุปก็คือ ปู่ยังนิยมการซื้อหุ้นคืนเหมือนเคย แต่พูดเป็นนัยว่าตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา

17. ประเทศที่ดี ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง – มีคำถามว่า วิกฤตครั้งนี้มีผู้เสียสละมากมาย ทั้งบุคลากรด้านสาธารณสุข บุคลากรด้านสายอุปทานอาหาร เดลิเวอรี่ การบริการชุมชน ประเทศของเราจะดูแลพวกเขาอย่างไร?

ปู่บอกว่า พวกเขาเหมือนทหารที่นอร์มังดี พวกเขาเหน็ดเหนื่อย ทุกข์ทรมาน ทำงาน 24 ชม. แต่เราไม่รู้แม้กระทั่งชื่อของพวกเขา

ปู่บอกว่า ประเทศนี้ต้องทำสิ่งต่างๆ เพื่อช่วยพวกเขา เราเป็นประเทศที่ร่ำรวย พวกเขาเสียสละกว่าคนบางคน ซึ่งเพียงแค่เกิดมาในมดลูกที่ถูกต้อง เราต้องสร้างสังคมที่ภายใต้สถานการณ์ปกติ คนที่ทำงานมากกว่าสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงต้องมีชีวิตที่ดี มีลูกสองสามคนได้โดยไม่ต้องมี second job

“พวกเขาใช้ชีวิตเหมือนพระราชาไม่ได้ก็จริง แต่นั่นไม่ใช่ความหมายของผม ไม่มีใครควรถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง”


Credit : ข้อมูลประกอบจากเว็บ Yahoo! Finance, CNBC และลิงค์การถ่ายทอดสดของ Yahoo! Finance ภาพประกอบจาก Yahoo! Finance

“จบอย่างไรให้สวย” บทเรียนจาก วอร์เรน บัฟเฟตต์

banister-1238466_960_720

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ในปี 1969 วอร์เรน บัฟเฟตต์ “เบื่อหน่าย” กับสภาวะบ้าคลั่งของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในขณะนั้น เขาบอกว่าตลาดหุ้นแพงขึ้นมาเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลายี่สิบปี จนถึงตอนนี้ เขาไม่เหลือ “ไอเดียดีๆ” ในการลงทุนอีกต่อไป

ปู่ในวัย 38 บอกว่า เขาเคยพยายามที่จะ “ผ่อน” การบริหารห้างหุ้นส่วนของตนเอง (ตอนนั้นปู่ยังไม่ได้ใช้ เบิร์คเชียร์ เป็นบริษัทลงทุน) แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะเมื่อรับผิดชอบต่อเงินของคนอื่น ก็รู้สึกเสมอว่าต้องทุ่มเทเต็มร้อย

“ตราบใดที่ผมยังอยู่ ‘บนเวที’ ยังต้องชี้แจงสถิติการลงทุนของตัวเองให้คนอื่นอ่านอยู่เรื่อยๆ และยังต้องรับผิดชอบการบริหารเงินของหุ้นส่วน … ผมจะไม่มีทางแบ่งเวลาให้กับสิ่งอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ BPL (Buffett Partnetship) ได้เลย … ผมรู้ว่าผมไม่อยากวิ่งไล่ตามกระแสการลงทุนอันรวดเร็วฉาบฉวยไปตลอดชีวิต วิธีเดียวที่จะผ่อนมือลงได้ ก็คือเลิกไปเลยเท่านั้น”

นี่คือถ้อยคำจากปู่ ชี้แจงเหตุผลของการเลิกลงทุน ซึ่งสรุปง่ายๆ ก็คือ

ถ้าทำแล้วไม่ดีที่สุด ก็ไม่ควรทำ!! 

อย่างไรก็ตาม ความตั้งใจประการหนึ่งของปู่ก็คือ อยาก “จบให้สวย” ลงจากบัลลังก์อย่างสง่างาม ซึ่งคงไม่มีวิธีใดดีไปกว่าการทำผลตอบแทนปีสุดท้ายให้ “เลิศ” เข้าไว้ เหมือน เซอร์อเล็ก เฟอร์กูสัน ที่จบการคุมทีมด้วยการพาแมนยูเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกอีกหนึ่งสมัย

ปัญหาก็คือ ตลาดหุ้น ณ เวลานั้นไม่เอื้ออำนวยเลยแม้แต่น้อย

“ผมมองไม่เห็นเลยว่ามีอะไรที่พอจะเป็นความหวังให้ผมจบปีสุดท้ายอย่างสวยๆ ได้ และผมก็ไม่อยากหลับตาคลำไปเรื่อยๆ โดยหวังว่าจะ ‘โชคดี’ ด้วยเงินของคนอื่น ตัวผมไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อมของตลาดในตอนนี้ และผมก็ไม่อยากทำลายสถิติการลงทุนที่ดี ด้วยการทู่ซี้เล่นเกมที่ผมไม่เข้าใจ เพื่อที่ผมจะออกจากเกมได้อย่างฮีโร่ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอชำระบัญชีเลิกกิจการในปีนี้เลย”

จะเห็นได้ว่า แม้ปู่จะอยาก “จบสวย” แต่ในเมื่อเป็นไปได้ไม่ได้ ก็หยุดเสียเลยจะดีกว่า ยิ่งทำต่อ ยิ่งแย่ ยิ่งทำให้สถิติอันยอดเยี่ยมในอดีตถูกทำลายลงไป

ก่อนหน้านั้น สถิติการลงทุนของปู่อยู่ที่ 29.8% ต่อปี ซึ่งถือว่ามากมายมหาศาล ชนิดยากที่ใครจะเทียบเคียงได้ การที่ปู่หยุดลง ณ​ ตรงนี้ จึงถือว่า “จบสวย” ที่สุดแล้ว

เขียนถึงตรงนี้ พาให้ผมนึกไปถึงผู้จัดการกองทุนอีกคนหนึ่ง คือ ปีเตอร์ ลินช์ ซึ่งบริหารกองทุนฟิเดลิตี้ แม็กเจลแลน ระหว่างทศวรรษ 1980-90 ทำผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้น 29% ในเวลา 14 ปี ก่อนจะตัดสินใจก้าวลง ณ จุดสูงสุด

เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับการตัดสินใจเลิกลงทุนครั้งแรกของปู่เหลือเกิน

แม้ผมไม่เล่าต่อ ท่านก็คงทราบอยู่แล้วว่า ในที่สุด ปู่ก็ตัดสินใจกลับเข้าสู่สนามการลงทุน และอยู่กับมันต่อเนื่องมาอีก 50 ปีจนถึงวันนี้ โดยไม่คิดจะเลิกอีกเลย ด้วยความรักในการลงทุน

แต่บทเรียนจากการ “จบสวย” ครั้งแรกเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน ก็เป็นเรื่องราวที่น่าศึกษาและเอาเป็นเยี่ยงอย่างไม่น้อย คนเรา ทำดีมาทั้งชีวิต ต้องหาโอกาสก้าวลงให้งามๆ

รู้จักพอ ไม่ทู่ซี้ จึงสามารถประดับชื่อไว้ในโลกา

——
ใครสนใจเรียนแกะงบออนไลน์ พร้อมเรียนสด ประเมินมูลค่าหุ้นและทำ DCF วันที่ 6 ต.ค. คลิกที่ลิงค์นี้เลย https://clubvi.com/valuationanddcf9/