จาก 26 ก.ย. 54 ถึง 22 มี.ค. 56 กับปรากฏการณ์ “SET โหด สลัด”

-60

 โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มือใหม่หลายคนที่เพิ่งเข้าตลาด คงได้ลิ้มรสความรู้สึกของวัยรุ่นตอน “อกหัก” ครั้งแรก

หลายคนเพิ่งเข้ามา “เล่นหุ้น” ช่วงต้นปี 56 เพราะทนความเย้ายวนไม่ไหว หลังจากเห็นคนรอบข้างได้กำไรจากหุ้นกันถ้วนหน้า ซึ่งในระยะแรกก็ไม่ผิดหวัง เพราะแค่ ม.ค. เดือนเดียว ดัชนีหุ้นไทยที่ “ขึ้น” มาเป็นปีๆ ก็ “วิ่งต่อ” อีก 83 จุด

มือใหม่หลายคนได้กำไรกว่า 10% ในเวลาแค่หนึ่งเดือน เรียกได้ว่าเอาเงินกลับไปฝากแบงก์อย่างที่เคยทำ ไม่รู้ต้องรอกี่ปีถึงจะได้เท่านี้

ถ้าเปรียบเป็นความรัก คงเหมือนช่วงคบกันใหม่ๆ มองไปทางไหนโลกก็เป็นสีชมพูไปหมด

แต่แล้ว พอเข้าสู่ช่วงกลางเดือน มี.ค. ได้เกิดปรากฏการณ์ “SET โหด สลัด” จากการที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงถึง 119 จุด ภายในเวลาแค่ 5 วัน ระหว่างวันที่ 18-22 มี.ค.

โดยเฉพาะศุกร์ที่ 22 มี.ค. วันทำการสุดท้ายของสัปดาห์ SET ร่วงลงถึง 50.55 จุด ติดลบระหว่างวันสูงสุดถึง 64.80 จุด มูลค่าซื้อขายวันเดียวกว่า “หนึ่งแสนล้านบาท” สูงที่สุดตั้งแต่ประเทศไทยมีตลาดหลักทรัพย์มา 38 ปี

ครั้งล่าสุดที่เกิดเรื่องราว “โหดสลัด” เช่นนี้ ต้องย้อนไปเมื่อวันที่ “26 กันยายน 2554” ซึ่งดัชนีปรับตัวลดลง 90.22 จุด หรือลบ 9.41% ระหว่างวัน ก่อนจะปิดตลาดที่ติดลบ 54.10 จุด หรือลบ 5.98% โดยในวันนั้นมี Circuit Breaker หรือคำสั่งพักการซื้อขายด้วย

จาก “26 ก.ย. 54” ถึง “22 มี.ค 56” เวลาผ่านมาเกือบปีครึ่ง จึงเกิดเหตุการณ์โหดๆ อีกครั้ง ดัชนีติดลบวันเดียวกว่า 50 จุด แม้ระหว่างวันจะลบสูงสุดแค่ 64 จุด ไม่ใช่ 90 จุดเหมือนครั้งก่อน และไม่มี Circuit Breaker แต่สุดท้าย ตลาดก็ปิดโดยปรับตัวลดลง 50.55 จุด ลบน้อยกว่าวันที่ 26 ก.ย.54 ที่ติดลบ 54.10 จุด ไม่ถึง 4 จุด

ทำเอาคนในแวดวงการลงทุนคาดเดากันไปต่างๆ นานา ว่าสาเหตุที่ทำให้ตลาดร่วงติดต่อกันหลายวัน ถ้าเป็นนักมวยก็เหมือนโดนรัวหมัดชุดชนิดไม่ทันตั้งตัว… คืออะไรกันแน่?!!

เท่าที่ฟังหลายฝ่ายพูดกันไปพูดกันมา ผมพอจะสรุปออกมาได้เป็น 4 ข้อหลัก ดังนี้

1. ความวิตกเรื่องเกณฑ์การเพิ่มหลักประกันของตลาดหลักทรัพย์ และมาตรการดูแลค่าเงินบาทของแบงก์ชาติ ที่ไม่รู้จะออกมาในรูปไหน

2. วิกฤตการเงินในไซปรัส

3. ความกังวลว่าจะมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี และความเป็นไปได้ที่ พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้าน จะถูกระงับ

4. คนที่ใช้มาร์จิ้นซื้อขายหุ้น โดน Force Sell ทำให้ตลาดยิ่งร่วงหนัก (ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ออกมาแถลงในเย็นวันที่ 22 มี.ค. ว่าไม่จริง ทว่าหลายคนก็ยังเชื่อว่าจริง)  

ไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงจะเป็นอะไรก็ตาม สิ่งที่น่าตลกก็คือ ปกติ “เหตุ” ต้องมาก่อน “ผล” แต่ในตลาดหุ้น ไม่ว่าจะครั้งนี้หรือครั้งไหนๆ “ผล” มักเกิดขึ้นก่อน แล้ว “เหตุ” ค่อยตามมา

ผมเปิดโทรทัศน์เห็นนักวิเคราะห์หลายคนนั่งพูดอยู่หน้าจอ ต่างคนต่างพยายามหา “เหตุ” มาอธิบาย “ผล” ที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งก็คือตัวเลขสีแดงเถือกที่วิ่งอยู่ตรงหน้า แต่ไม่มีใครกล้าฟันธงว่ามันมาจากอะไรแน่

ทั้งที่ไม่กี่วันก่อนหน้า บางคนยังบอกว่า 1,800 จุด แค่เอื้อมอยู่เลย

เพื่อที่จะอธิบายในเรื่องนี้ ผมขอยกคำพูดของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ต้นแบบวีไอไทย ที่ได้เตือนถึงความร้อนแรงของตลาดหุ้นไทยมาหลายหนแล้ว ดร.นิเวศน์ กล่าวไว้ในรายการวิทยุทาง FM 96.5 เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ว่า …

“มันเป็นกฎเรียกว่า Regression to the Mean.. หมายความว่า มันมักจะกลับมาสู่ราคากลางๆ เมื่อราคามันขึ้นไปสูง สักพักหนึ่งก็กลับมาสู่ราคาที่เป็นค่าเฉลี่ย เป็นอย่างนี้ พอมันตกลงมาต่ำสุดๆ ต่ำกว่าปกติมากๆ สักระยะหนึ่ง เดี๋ยวมันก็ขึ้นมา โดยไม่ต้องไปดู เศรษฐกิจเป็นยังไง การคลังเป็นยังไง ปวดหัว คิดไปคิดมามันปวดหัว มีปัจจัยร้อยแปด Regression to the Mean มันไม่ต้องพูดเหตุผล … ถ้าคุณไปถึงจุดหนึ่ง ดีมากๆ ถึงจุดหนึ่ง เดี๋ยวมันมีเหตุผลมาเอง…ว่าทำไมมันจะตก”

นั่นคือคำกล่าวของอาจารย์นิเวศน์ส่งท้ายปีที่แล้ว

“Regression to the Mean” (บ้างก็เรียกว่า Regression towards the Mean หรือ Reversion to the Mean) ความหมายก็คือ มัน “ตก” เพราะมัน “ขึ้น” มามากแล้ว ไม่ต้องคิดหาเหตุผลให้ปวดกบาล

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจารย์นิเวศน์ไม่ได้บอกว่าตลาดจะไปต่อไม่ได้แล้วนะครับ และคงไม่มีใครกล้าฟันธงเช่นกัน มันอาจวิ่งต่อถึง 1700-1800 จุด หรือมากกว่านั้น หรืออาจจะพักฐานไปอีกนานก็ได้ ไม่มีใครรู้ ผมเองก็ไม่ทราบ

แม้ว่าถ้ามองสั้นๆ แค่ไม่กี่วัน ตลาดขณะนี้อาจดูเหมือน ‘ไม่ปกติ’ แต่หากมองในภาพกว้าง นี่แหล่ะคือ ‘ปกติ’ ของตลาด

สิ่งที่จริงแท้แน่นอนที่สุดก็คือ “สูงสุดคืนสู่สามัญ” ขึ้นมามากแล้ว ยังไงก็ต้องลง จะเป็นเมื่อไรเท่านั้น

“VI พันธุ์แท้” ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนแก่กล้า คงไม่รู้สึกกังวลอะไร ส่วนใหญ่น่าจะชอบใจเสียด้วยซ้ำ ยิ่งลงยิ่งดี เพราะถือเงินรอมานานแล้ว หลายคนบ่นว่าอยากจะ Take Action เต็มแก่

แต่สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเข้าตลาด หรือแม้แต่มือเก่าที่เป็น “เม่า” ขอให้ถือเอาปรากฏการณ์นี้เป็นบทเรียน และก้าวย่างอย่างระมัดระวังมากขึ้น

หากไม่มั่นใจ ขอให้เตือนตัวเองว่าต้องกระทำการบนพื้นฐานของ “เหตุผล” แล้วท่านจะปลอดภัย ไม่ว่าในเวลาสงบหรือช่วงโกลาหลครับ

3 thoughts on “จาก 26 ก.ย. 54 ถึง 22 มี.ค. 56 กับปรากฏการณ์ “SET โหด สลัด”

  1. ขอบคุณค่ะ นี่คือสัจธรรมในเรื่องของความโลภที่เป็นบทเรียนสำหรับมือใหม่อย่างเรา

    ________________________________

  2. ผมฟังอาจารย์หลายๆท่านกล่าว ถ้าคิดจะลงทุนควรจะเข้าใจธรรมะ 🙂 ขอบคุณสำหรับการแบ่งปันสิ่งดีๆนะครับ คุณผู้เขียน

Leave a comment