โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
วอร์เรน บัฟเฟตต์ กล่าวว่า คุณลักษณะประการหนึ่งของธุรกิจที่เขาปรารถนา คือ มี “แฟรนไชส์” (Franchise)
คำว่า แฟรนไชส์ ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงสิทธิ์ทางการตลาด ไม่ใช่การ “ซื้อ – ขายแฟรนไชส์” ดั่งความหมายที่ใช้กันในโลกธุรกิจทุกวันนี้นะครับ
แฟรนไชส์ ในความหมายของปู่บัฟฟ์ มาจากความหมายดั้งเดิมของคำๆ นี้ อันหมายถึงการเป็นที่นิยม จนถึงขั้นได้รับ “ความภักดี” จากผู้บริโภค ยากที่จะหาสินค้าหรือบริการอื่นมาทดแทนได้
บริษัทที่มีแฟรนไชส์ มักมีลักษณะคล้ายๆ กัน คือ เป็นผู้นำในธุรกิจ หรือไม่ก็มีลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่เหนียวแน่น ชนิดที่ใครมาแย่งเอาไปไม่ได้ ที่สำคัญคือสามารถ “ขึ้นราคา” ได้ โดยมีผลกระทบต่อยอดขายน้อยมาก
ปู่บัฟฟ์เปรียบเทียบไว้ชัดเจนมากๆ ครับว่า การมีแฟรนไชส์ของธุรกิจ ก็เหมือนกับปราสาทหรือเมืองที่มี “คูน้ำ” ล้อมรอบ แถมในคูมี “ไอ้เข้” ว่ายวนเวียนอยู่เพียบ ยากที่ข้าศึกจะโจมตี
ตัวอย่างเช่น วอชิงตัน โพสต์ (Washington Post) หนังสือพิมพ์ยอดขายอันดับหนึ่งของวอชิงตัน ดีซี หรือ บัฟฟาโล่ นิวส์ (Buffalo News) หนังสือพิมพ์ยอดนิยมของชาวนิวยอร์ก ที่เบิร์คเชียร์เข้าไปซื้อหุ้น หรือแม้กระทั่งโอมาฮา เวิลด์ แฮรอลด์ (Omaha World Herald) หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ปู่แกอ่านมาตั้งแต่เด็ก และเพิ่งไปเทคโอเวอร์มาแบบช็อคโลกเมื่อปี 2011
ทุกฉบับล้วนมี “จุดร่วม” เดียวกัน นั่นคือ มีผู้อ่านที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของตัวเองอยู่
ลองดูตัวอย่างบ้านเราสิครับ ร้านก๋วยเตี๋ยวร้านไหนมีเดลินิวส์วางอยู่ ร้านนั้นมักไม่มีไทยรัฐ ร้านไหนมีไทยรัฐ ก็มักไม่มีเดลินิวส์ นั่นก็เพราะต่างฝ่ายต่างมีแฟนประจำของตัวเอง
ที่สำคัญคือ ทั้งคู่ต่างอยู่รอด ผ่านร้อนผ่านหนาวมาได้หลายทศวรรษ แม้ทุกวันนี้การอ่านข่าวในอินเตอร์เน็ตจะง่ายแค่ปลายนิ้ว แต่ยักษ์ใหญ่หัวสีทั้งสองก็ยังขายดีอยู่ แบบนี้เรียกว่ามี แฟรนไชส์ ทั้งคู่
อีกตัวอย่างที่ชัดเจนมากๆ คือ ซีส์ แคนดีส์ (See’s Candies) ช็อคโกแล็ตยอดนิยมทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ที่บัฟเฟตต์พร้อมด้วยเพื่อนรักคือ ชาร์ลี มังเกอร์ เข้าไปซื้อกิจการเมื่อปี 1972 หรือ 40 ปีที่แล้ว
ความนิยมที่ผู้บริโภคมีต่อซีส์ แคนดีส์ รับรู้ได้จากเรื่องเล่าที่ว่า ในแคลิฟอร์เนีย ถ้าหนุ่มคนไหนซื้อซีส์ไปให้สาว สาวจะรัก แต่ถ้าซื้อยี่ห้ออื่นไปให้ นอกจากจะไม่รักแล้ว สาวจะตบเอา
เจ้าของเก่าเสนอขายกิจการซีส์ แคนดี ช็อป (ชื่อเดิมในตอนนั้น) ที่ราคา 40 ล้าน แต่บริษัทมีเงินสดอยู่ 10 ล้าน ซึ่งหมายความว่าราคาขายจริงอยู่ที่ 30 ล้านเหรียญ
ทีแรก ทั้งบัฟเฟตต์และมังเกอร์ก็ลังเล เพราะสินทรัพย์ที่มีตัวตนของ ซีส์ มีมูลค่าแค่ 7 ล้านเหรียญ แต่หลังจากนั่งคิดนอนคิดอยู่นาน ทั้งสองคนก็ตัดสินใจซื้อ โดยต่อรองราคาลงมาได้เหลือ 25 ล้าน
ทุกวันนี้ ทั้งคู่ยอมรับว่า พวกเขาโชคดีเหลือเกินที่เจ้าของเดิมยอมขายกิจการให้ ในราคาที่เมื่อมองย้อนกลับไปถือว่า “ถูกเหลือเชื่อ” หากเทียบกับ “ซูเปอร์แฟรนไชส์” ของมัน ซึ่งทั้งบัฟเฟตต์และมังเกอร์ในวันนั้นแม้จะมองออก แต่ก็คาดไม่ถึง
เอาล่ะ ทีนี้มาลองนึกกันครับ ว่าในเมืองไทยเรา มีธุรกิจไหนที่เข้าข่ายนี้บ้าง
ให้นึกถึงร้านช็อคโกแล็ตของไทย ผมนึกยังไงก็นึกไม่ออกครับ แต่ถ้าเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ นอกจากไทยรัฐ เดลินิวส์ ที่พูดไปแล้ว มีภาพของนิตยสารฉบับหนึ่ง ลอยขึ้นมาในหัวผม
มีใครรู้บ้างครับว่า นิตยสารที่ขายดีที่สุดในประเทศไทย คือนิตยสารอะไร?
เฉลยนะครับ คำตอบคือ “คู่สร้างคู่สม” ของคุณดำรง พุฒตาล
เชื่อไหมครับว่า แม้ในยุคที่คนซื้อหนังสือเล่มน้อยลง แต่นิตยสารอมตะอย่างคู่สร้างคู่สม ยังมียอดพิมพ์สัปดาห์ละ 300,000 ฉบับ ออกทุกสัปดาห์ รวมแล้วพิมพ์เดือนละ 1.2 ล้านฉบับ ซึ่งถือได้ว่า “สูงมาก” อีกทั้งยังอยู่ยงคงกระพันมาหลายชั่วอายุคน
นอกจากนี้ เมื่อดูจากกลุ่มลูกค้าที่ล้วนเป็น “ชาวบ้านร้านตลาด” ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นกับอินเตอร์เน็ต ผมเชื่อว่าคู่สร้างคู่สมจะยังอยู่ต่อไปได้อีกนาน ในขณะที่แมกกาซีนสำหรับชนชั้นกลางกลับจะล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ
ผมคิดเล่นๆ ว่า ถ้าคุณดำรงเอาคู่สร้างคู่สมเข้าตลาด แม้จะเป็นธุรกิจอัสดงอย่างสื่อสิ่งพิมพ์ หุ้น KSKS ก็ยังน่าสนใจนะ
นี่แหล่ะครับ คือตัวอย่างของ “ซูเปอร์แฟรนไชส์” แบบไทยๆ
ที่ผมอธิบายเรื่องแฟรนไชส์ และยกมาหลายต่อหลายตัวอย่าง ก็เพื่อจะให้ชี้เห็นว่า วีไอไม่ควรปิดโอกาสในการลงทุนของตัวเอง ไม่ควรปักใจว่าอุตสาหกรรมใดอยู่ในช่วง “ขาลง” แล้วจะลงทุนไม่ได้เสียทีเดียว (แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นเช่นนั้น)
ผมมองว่า หุ้นจำพวกนี้ อาจเหมาะสำหรับการลงทุนแบบ Defensive เพราะราคาของมันมัก “ไม่แพง” เนื่องจากคนส่วนใหญ่ต่างหลีกเลี่ยง จึงอาจเหมาะกับสถานการณ์ที่ “หุ้นดีๆ” ใน “อุตสาหกรรมเด่นๆ” ราคาสูงไปหมดทั้งตลาดแล้ว
แต่ทั้งนี้ต้องอย่าซื้อให้มากนัก ควรซื้อไว้ “ประคองพอร์ต” เอาไว้ถ่วงดุลกับ “หุ้นแพงๆ” ในพอร์ตของเรา นั่นน่าจะดีที่สุดครับ
————————–
ภาพ 1 จาก Twitter ของ Washington Post, ภาพ 3 จาก koosangkoosom.com