โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
ถ้าบริษัทที่คุณถือหุ้นอยู่ มีข่าวว่าจะไปซื้อกิจการอื่น หรือมีข่าวว่าจะถูกซื้อกิจการ แล้วคุณ…
1. ไม่สนพื้นฐานอะไรทั้งสิ้น ถ้าคิดว่าหุ้นจะขึ้นก็ซื้อเพิ่ม ถ้าคิดว่าจะตกก็ขายทิ้ง – คุณคือ “นักเก็งกำไร” (The Speculator)
2. สงสัยแค่ว่าจะได้ปันผลลดลงมั้ย ถ้าไม่ลดก็ไม่มีปัญหา ถือต่อไป – คุณคือ “นักลงทุนดาษดื่น” (The General and Can-be-found-anywhere Investor)
3. ติดตามข่าว ฟังกูรูวิเคราะห์ แล้วค่อยเลือกเชื่อข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่สุด – คุณคือ “นักลงทุนระดับกลาง” (The Intermediate Investor)
4. ติดตามข่าว ฟังกูรูวิเคราะห์ แต่ยังไม่เชื่อใครทั้งนั้น แล้วเอาตัวเลข เอาข้อมูลมาวิเคราะห์เอง ก่อนจะได้ข้อสรุปเป็นของตัวเอง – คุณคือ “นักลงทุนผู้ชาญฉลาด” (The Intelligent Investor)
แบบทดสอบย่อยๆ นี้ ออกจะหยาบอยู่พอสมควร แต่ผมคิดว่ามันช่วยจำแนกคนในตลาดหุ้นที่เราเห็นๆ กันได้ดีในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
เหตุที่ผมยกกรณีการ “ซื้อ-ขายกิจการ” เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่จะแบ่งประเภทคนได้ง่ายที่สุด โดยดูจากการ “ตอบสนอง” (React) ต่อข่าวสารที่เกิดขึ้น
เอาจำพวกแรกก่อนนะครับ “นักเก็งกำไร” อันนี้มีอยู่มากมายในตลาดหุ้น และมีอยู่ในทุกๆ ช่วงอายุ คนกลุ่มนี้ชอบซื้อๆ ขายๆ ตัวไหนคิดว่าจะขึ้นก็เข้าไปซื้อ ซื้อแล้วขึ้นต่อก็ขายทิ้งทำกำไร ซื้อแล้วลงก็ขายตัดขาดทุน
ธรรมชาติของนักเก็งกำไร พอมีข่าวการเทคโอเวอร์ และคิดว่าหุ้นต้องขึ้นแหงๆ พวกเขาจึงโดดเข้าไปเก็บโดยพลัน แต่ตรงกันข้าม ถ้าคิดว่าการเทคโอเวอร์นั้นจะทำให้หุ้นตก พวกเขาก็รีบขายทิ้ง
คงไม่ต้องอธิบายอะไรกันให้มากความมังครับ นักเก็งกำไรเป็นกลุ่มคนที่พบเห็นกันได้ทั่วไป และคิดว่าน่าจะเป็นคน “ส่วนใหญ่” ในตลาด
อีกประเภทหนึ่งคือ “นักลงทุนดาษดื่น” อันนี้ผมขอยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อหลายเดือนก่อน ตอนที่บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ เจ้าของมินิมาร์ทชื่อดัง กำลังเข้าไปเทคโอเวอร์บริษัทค้าส่งสัญชาติฮอลแลนด์
จำได้ดีว่า ในการประชุมผู้ถือหุ้น ผู้บริหารบริษัท รวมทั้ง “เจ้าสัว” ได้ยกเรื่องของ “เงินปันผล” ขึ้นมา เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ถือหุ้นตัวเล็กๆ เห็นชอบกับดีลดังกล่าว โดยยืนยันว่า เงินปันผลที่จะได้รับ จะไม่ลดลงแน่นอน มีแต่จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อผ่านสองปีแรกไปแล้ว
พูดเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก หลายครั้งมาก
เพียงแค่ได้ฟัง ผมก็รู้ทันทีว่า ผู้บริหาร “จับจุดถูก” รู้ว่านักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับ “เงินปันผล” เป็นหลัก พวกเขาอาจสนใจบ้างว่าตัวธุรกิจจะดีร้ายอย่างไร แต่ไม่ได้สนใจเท่ากับว่าจะมีดอกผลมาถึงกระเป๋าของตัวเองเท่าไร คือ “มองสั้น” เป็นหลัก
คนที่คิดเช่นนี้มีอยู่เยอะมาก จึงถือเป็น “นักลงทุนดาษดื่น” คือไปประชุมที่ไหนๆ ก็เจอ แม้จะไม่เยอะเท่ากับกลุ่มแรก คือ “นักเก็งกำไร”
อย่างไรก็ตาม มีหลายคนที่อยู่ในทั้งจำพวกที่ 1 และ 2 ไปพร้อมๆ กัน คือเก็งกำไรด้วย แต่ตัวไหน(เขาบอกว่า)พื้นฐานดี ก็ถือยาวหน่อย รอรับปันผล
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงมองว่า ทั้งสองกลุ่ม คือนักเก็งกำไร และนักลงทุนดาษดื่น มีการ “ทับซ้อน” (Overlap) กันอยู่ในระดับหนึ่ง
พัฒนาขึ้นมาอีก คือกลุ่มที่ 3 “นักลงทุนระดับกลาง” คนกลุ่มนี้มีความ “พยายาม” ที่จะหาข้อมูลให้ลึกซึ้งไปกว่าการ “เก็งกำไร” หรือการ “รอกินปันผล” แต่ความรู้ของพวกเขายังไม่ “สุกงอม” พอที่จะศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยตนเอง
พอมีข่าวว่าจะมีการซื้อ-ขายกิจการ จึงอาศัยฟังเอาจาก “เซียน” และบรรดากูรูนักวิเคราะห์อีกทีหนึ่ง จากนั้นจึง “เลือก” ที่จะ “เชื่อ” ในข้อมูลที่ตัวเองคิดว่าน่าเชื่อถือที่สุด แล้วทำตามนั้น
ต้องถือว่า “นักลงทุนระดับกลาง” ทำได้ไม่เลวเลยนะครับ รู้จักศึกษา รู้จักฟัง รู้จักอ่าน แล้วคิดตาม อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ยังอาจพลาดพลั้งได้ หากเลือกที่จะเชื่อ “ผิดคน” ทั้งนี้เพราะยังคิดด้วยตัวเองไม่เป็น ด้วยความที่ “พื้นยังไม่แน่นพอ”
กลุ่มสุดท้าย พวกนี้มีความรู้ค่อนข้างมาก หรืออย่างน้อยก็ต้องมีพื้นพอสมควร ที่สำคัญกว่าก็คือ พวกเขามี “หัวใจ” แห่งการเป็น “นักลงทุนพันธุ์แท้” พวกเขาเลือกที่จะวิเคราะห์และศึกษาตัวเลขต่างๆ เลือกที่จะอ่านงบการเงิน เลือกที่จะติดตามข่าวสาร แล้วเอามาวิเคราะห์ด้วยสติปัญญาความสามารถของตัวเอง
พอมีข่าวว่าจะมีการซื้อขายกิจการ จะเป็นบวกหรือเป็นลบ จะดีหรือไม่ดี พวกเขาจึงคิดเองได้ อาจจะฟังกูรูบ้าง แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจด้วยตัวเอง
คนกลุ่มนี้คือ “นักลงทุนผู้ชาญฉลาด” หรือ The Intelligent Investor
การเป็นนักลงทุนผู้ชาญฉลาดนั้น อย่าคิดว่ามีเพียง “สมอง” แล้วจะทำได้นะครับ บางคนฉลาดปราดเปรื่อง บางคนทำงานด้านการเงินการธนาคารมาแท้ๆ แต่ก็เป็นนักลงทุนผู้ชาญฉลาดไม่ได้ เนื่องจากไม่สนใจ หรือจิตใจไม่เข้มแข็ง จึงใฝ่ไปในทางเก็งกำไร หรือไม่ก็มุมานะพยายามไม่พอ จึงเลือกที่ซื้อหุ้นที่ใครๆ เขาบอกว่าดี แล้วรอรับปันผลเอาสบายใจกว่า
ดังนั้น การจะเป็นนักลงทุนผู้ชาญฉลาด จึงต้องมีทั้ง “สติปัญญา” และ “ความมุ่งมั่น” จึงจะบรรลุถึงได้
อย่างไรก็ตาม ถ้าถามผม ผมให้น้ำหนักกับ “ความมุ่งมั่น” มากที่สุด เพราะผมเชื่อว่า คนเราลองถ้ามีหัวจิตหัวใจที่มุ่งมั่น จะยากยังไงเดี๋ยวก็ทำได้ เหมือนที่ ดร.ซุนยัดเซน ว่าไว้
“ถ้าคิดว่าทำได้ ต่อให้ยากขนาดย้ายภูเขาถมทะเล ยังไงก็ทำเสร็จจนได้ ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ ต่อให้ง่ายแค่พลิกฝ่ามือก็ไม่มีวันสำเร็จ”
หลายคนที่เป็นนักลงทุนผู้ชาญฉลาด ล้วนผ่านมาแล้วทั้ง Stage ของการเป็น “นักเก็งกำไร” “นักลงทุนดาษดื่น” และ “นักลงทุนระดับกลาง” แต่ด้วยความตั้งอกตั้งใจ จึงกลายมาเป็นนักลงทุนระดับสุดท้าย คือ “นักลงทุนผู้ชาญฉลาด” ในที่สุด
คนเราไม่มีทาง “เก่ง” กันได้ในชั่วข้ามคืน ถ้าอยากจะรวยยั่งยืน ก็ต้องมุมานะพยายาม อย่ายอมแพ้ ต้องคิดว่า “เราทำได้”
เพราะ “ทางลัด” สู่ความสำเร็จในการลงทุนนั้น ไม่มีอยู่จริงหรอกครับ
Reblogged this on Noo2555's Blog and commented:
Wanna be the inntellgent investor
ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ครับ