“หนี” อย่างวีไอ

หนีคือยอดกลยุทธ์

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ผมเคยเขียนไว้นานแล้วว่า มีสามเหตุผลที่จะทำให้วีไอต้องขายหุ้นทิ้ง คือ

  1. ราคาหุ้นเฟ้อสุดขั้ว ชนิดที่บริษัทปั๊มกำไรกี่ปีก็คงไม่ทันกับราคา
  2. พื้นฐานกิจการเปลี่ยนไปในทางลบ
  3. เราวิเคราะห์ผิดมาตั้งแต่แรก

ในกรณีแรก ถ้ามั่นใจว่าราคาเว่อร์เกิน ก็สามารถขายทิ้งได้ ไม่ถือว่าเสียหายหรือผิดกติกา ไม่ผิดหลักวีไอแต่ประการใด

แต่สำหรับกรณีที่ 2-3 หากจะเปรียบเป็นการศึก ก็คงเปรียบได้กับการ “หนี”

คัมภีร์ “๓๖ กลยุทธ์แห่งชัยชนะ” ของจีน ว่าไว้ “หนี คือยอดกลยุทธ์” เมื่อสู้ไม่ได้แล้ว การหนีไม่ใช่เรื่องเสียหาย ดีกว่าตาย ดีกว่ายอมแพ้พ่าย ดีกว่าถูกจับเป็นเชลย ซึ่งจักเสียหายสูญสิ้นมากกว่าหลายเท่า

ปัญหาก็คือ การหนีที่ดีนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องเป็นการหนีอย่างมีศิลปะ ต้องหนีแบบ “มีชั้นเชิง” ต้องรักษาสถานการณ์ให้ฝ่ายเราเสียหายน้อยที่สุด

วีไอก็เหมือนกันครับ หากเป็นสถานการณ์แบบข้อ 2-3 ที่ผมบอกไป คือพื้นฐานเปลี่ยน หรือเรารู้ตัวแล้วว่าวิเคราะห์ธุรกิจผิดไป อันนี้ก็ต้อง “หนี” หรือ “ขายหุ้นทิ้ง” นั้นเอง

อย่างกรณีพื้นฐานเปลี่ยนในทางลบ ตัวอย่างเช่น หุ้นของธุรกิจขายปลีกคอมพิวเตอร์และสินค้าไอทีบริษัทหนึ่ง เมื่อก่อนกิจการก็ดี ขายของได้เรื่อยๆ โตปีละ 10-20%

อยู่ไปๆ คนเกิดหันไปใช้สมาร์ทโฟน แทบเล็ต กันมากขึ้น ยอดขายคอมฯ ไม่ว่าพีซี-แทบเล็ต ตกลงอย่างน่าใจหาย บริษัทจึงต้องทยอยปิดสาขา สุดท้ายตัวเลขกำไรที่เคยดี กลับพลิกเป็นขาดทุน

เช่นนี้ ถ้าเราไปลงทุนไว้ ก็อาจจะต้อง “หนี”

การหนีแบบมีชั้นเชิง ถ้าเปรียบเป็นการศึกก็คือ ไม่ใช่หนีแบบทิ้งอาวุธ ถอดเกราะ โกยอ้าวไม่คิดชีวิต อย่างนั้นมีหวังโดนข้าศึกไล่ตามตี เสียหายยับเยินแน่ๆ

สิ่งที่ควรทำก็คือ ต้องหนีแบบประคับประคอง ถอยไป คุมเชิงไป หาทางพลิกแพลง รักษาชีวิตรอด ให้ตัวเราเสียหายน้อยที่สุด จะได้มีโอกาสกลับไปเลียแผล พักฟื้น และกลับมาสู้ใหม่ได้

คำแนะนำของผมก็คือ อย่า “ขายหุ้นทิ้ง” ไปถือ “เงินสด” เป็นอันขาด แต่ให้เอาเงินทั้งหมดที่ได้จากการขายหุ้นตัวเดิม ไปซื้อหุ้นอีกตัวหนึ่ง ที่เรามองแล้วว่ากิจการดี หรืออย่างน้อยก็ต้องไม่แย่เหมือนหุ้นตัวเก่าที่เราขายไป

เหตุที่พูดเช่นนี้ก็เพราะ หากเราขายหุ้นไปถือเงินสด เราจัก “ขาดทุนแล้ว ขาดทุนเลย” ไม่มีวันได้เงินคืน ไม่มีโอกาสพลิกจากรุกเป็นรับ ไม่มีทางได้อะไรชดเชย

ตรงกันข้าม การนำเงินที่เหลือจากการขายหุ้นที่แย่กว่า ไปซื้อหุ้นที่ดีกว่า เป็นหุ้นของกิจการที่ยังโตต่อได้ ย่อมมีโอกาสที่เราจะฟื้นคืน ชดเชยความเสียหาย หรืออาจจะกลับมาได้กำไรอีกครั้งหนึ่ง

บางคนอาจตั้งคำถามว่า แล้วถ้าขืนเลือกหุ้นผิดซ้ำสอง จะไม่ยิ่งแย่ไปกว่าเดิมหรือ สู้ถือเงินสดไว้ อย่างน้อยก็เป็นการ “หยุดเลือด” ได้ จะไม่ดีกว่าหรือ?

เรื่องนี้ ในมุมมองของผม ผมไม่ได้กลัวเลยแม้แต่น้อย ด้วยเหตุผลดังนี้ครับ

ก็ถ้าหุ้นตัวนั้นมัน “แย่” จริง แปลว่าต้องมีหุ้นที่ “ดีกว่า” อยู่เยอะแยะในตลาด ยิ่งถ้าเราไม่จำกัดตัวเองอยู่ในอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมหนึ่ง โอกาสหาหุ้นดีๆ มาทดแทนย่อมมีอยู่มากมาย

หากเราขายหุ้นทิ้งด้วยเหตุผลข้อแรก คือหุ้นตัวเดิมราคาสูงจนกำไรไม่มีวันไล่ทัน เราจะต้องหาหุ้นที่ “ดี” มาแทนหุ้นที่ “ดีมาก” ซึ่งเป็นเรื่องยาก

(ผมเองก็เคยเจอปัญหานี้ คืออยากขายหุ้นตัวเก่าเพราะราคามันแพงเกินพื้นฐานไปเยอะ แต่ก็ยังไม่รู้จะไปซื้อหุ้นตัวไหนที่ดีกว่าของเดิม)

แต่ถ้าเราขายหุ้นทิ้งด้วยเหตุผลข้อ 2-3 แปลว่าเราต้องหาหุ้น “ดี” มาทดแทนหุ้น “แย่” ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเลย

จากตัวอย่างเดิม สมมุติเราขายหุ้นบริษัทขายคอมพิวเตอร์ทิ้ง เราก็อาจจะเอาเงินที่ได้ไปซื้อหุ้นตัวอื่น อาจจะเป็นหุ้นที่ธุรกิจยังอินเทรนด์อยู่ หรืออาจจะเอาเงินไปซื้อหุ้นของธุรกิจดีๆ ที่มีการเติบโตชัดเจน เช่นนี้ก็จะทำให้เรามีโอกาสกลับมาได้

วิธีนี้ผมเองเคยใช้มาก่อน เวลาหุ้นของกิจการที่ถืออยู่เกิดพื้นฐานเปลี่ยนในทางลบ หรือมารู้ทีหลังว่าตัวเองวิเคราะห์ผิดไป ผมมักจะมองหาหุ้นที่ดีกว่า แล้วขายหุ้นเดิมทิ้ง เอาเงินที่เหลือไปซื้อหุ้นใหม่

ด้วยการกระทำดังกล่าว ทำให้ผมสามารถฟื้นตัว คือได้กำไรมาชดเชยผลขาดทุนจากหุ้นตัวเดิมทั้งหมด และบางครั้งก็ได้มากกว่าที่เคยขาดทุนหลายต่อหลายเท่า

นี่คือกลยุทธ์การ “หนี” เพื่อ “พลิกสถานการณ์” ใครจะเอาไปลองใช้ดูก็ได้นะครับ 

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s