โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
วอร์เรน บัฟเฟตต์ แบ่งการลงทุนออกเป็นสามประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
ประเภทแรก คือการลงทุนในรูปของ “เงินตรา” (currency-based investment) เช่น เงินฝากธนาคาร พันธบัตร หรือกองทุน money market ต่างๆ
การลงทุนประเภทนี้ ทฤษฎีการเงินบอกว่าความเสี่ยงเป็น “ศูนย์” แต่ปู่กลับชี้ชัดว่า มันคือการลงทุนที่ “อันตรายที่สุด” เนื่องจากต้องเผชิญ “เงินเฟ้อ” ที่คอยทำลายมูลค่าอยู่ตลอดเวลา
ยิ่งเจอฤทธิ์ของ “ภาษี” มาผสมโรงด้วยแล้ว ยิ่งมีโอกาสน้อยมากที่จะรักษา “อำนาจซื้อ” เอาไว้ได้
นี่จึงเป็นการลงทุนที่ปู่ “ชอบน้อยที่สุด”
การลงทุนประเภทที่สอง คือการลงทุนที่ในสินทรัพย์ที่จะมีมูลค่าสูงขึ้น เมื่อตัวของมันเป็นที่ต้องการมากขึ้นเช่น ทองคำ อัญมณี สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ฯลฯ
สินทรัพย์จำพวกนี้ เมื่อมีคนจำนวนมากขึ้นอยากได้มัน ราคาก็จะยิ่งสูงขึ้น เมื่อคนต้องการมันน้อยลง ราคาก็จะลดต่ำลง และหากไม่มีใครอยากได้มันอีกต่อไป มันก็จะหมดค่าลงไปในทันที
ปู่บอกว่า หากคุณมีทองคำอยู่หนึ่งออนซ์ มันก็จะมีน้ำหนักหนึ่งออนซ์ตลอดไป ไม่มีทาง “งอก” ขึ้นมามากกว่านั้นได้ แม้บางวันคุณจะเหงา อยากคุยกับมัน มันก็จะไม่ยอมคุยกับคุณอย่างแน่นอน
ที่สำคัญที่สุดก็คือ มันจะไม่ให้ “ผลตอบแทน” ใดๆ ทั้งสิ้น สิ่งที่คุณทำได้คือถือมันไว้เฉยๆ เท่านั้น! นี่จึงเป็นการลงทุนที่ปู่ “รู้สึกกลางๆ”
การลงทุนประเภทที่สาม คือการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ “ผลิตผล” ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในธุรกิจ เรือกสวนไร่นา หรืออสังหาริมทรัพย์
ปู่บอกว่า การลงทุนจำพวกนี้ มีโอกาสสูงสุดที่จะรักษา “อำนาจซื้อ” เอาไว้ได้
เหตุก็เพราะว่า ไม่ว่าในอนาคต ผู้คนจะใช้สินทรัพย์อะไรเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน จะเป็น “เงินกระดาษ” หรือ “เหรียญกษาปณ์” เหมือนทุกวันนี้ หรือจะเป็น “เงินอิเล็คทรอนิค” หรือแม้แต่ หนวดเต่าเหาฉลามที่ไหนก็ตาม
ยังไงเสีย มนุษย์ก็ยังต้องกินต้องใช้ ต้องบริโภค “สินค้า”หรือ “บริการ” ต่างๆ ผู้คนจะยังคงดื่มน้ำอัดลม กินแฮมเบอร์เกอร์ กินอาหารที่ทำจากข้าวโพด ยังต้องมีบ้านอยู่ มียารักษาโรค ฯลฯ
ดังนั้น หากเราถือหุ้นบริษัทโคคาโคล่า หากเราถือหุ้นแม็คโดนัลด์ หากเรามีไร่ข้าวโพด หากเรามีบ้านให้คนเช่า หากเราถือหุ้นบริษัทยา ฯลฯ เราก็จะมี “อำนาจซื้อ” มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของตัวสินทรัพย์เองที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
รวมทั้ง “ผลิตผล” ที่จะได้รับ ตราบเท่าที่เรายังถือครองสินทรัพย์นั้นๆ (จะอยู่ในรูปของเงินปันผล ข้าวโพด ค่าเช่า หรืออะไรก็ตามแต่)
และนี่แหละ คือการลงทุนที่ปู่ “ชอบที่สุด” และตัวแกเองก็ร่ำรวยขึ้นมาจากการลงทุนในธุรกิจ หรือหากแม้นซื้อไม่ได้ทั้งธุรกิจ แกก็ซื้อ “หุ้น” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ และสร้างความมั่งคั่งทบทวี กลายเป็นชายชื่อวอร์เรน บัฟเฟตต์ ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
นักลงทุนตัวเล็กๆ อย่างเราๆ จึงควรเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจ “ประเภทของสินทรัพย์” ตามที่ปู่ได้จำแนกไว้ และศึกษาให้รู้ถึงข้อดีข้อเสียของมัน
เพื่อที่จะได้เลือกลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความสามารถของตนเองครับ