
เรียบเรียงโดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่ WTO ให้สัมภาษณ์นิตยสาร Asian Nikkei Review โดยชี้ถึงสัญญาณอันตรายของเศรษฐกิจไทยและเอเชีย ผมไปอ่านเจอและเห็นว่ามีประโยชน์มากทีเดียว จึงขอสรุปออกมาเป็นข้อๆ ให้เข้าใจกันง่ายๆ นะครับ
1. ถามว่า เอเชียมีโอกาสเจอวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้งหรือไม่ ดร. ศุภชัย ตอบว่า ตอนนี้ทุกอย่างยังดูดีอยู่ เศรษฐกิจอเมริกาดีขึ้นเรื่อยๆ ตลาดหุ้นก็ขึ้นตาม หุ้นเอเชียก็ขึ้น ส่วนจีนกำลังปรับโครงสร้าง
สิ่งที่ต้องระวัง คือปัจจัยที่จะมาทำให้ภาพที่กำลังดีเหล่านี้สิ้นสุดลง
2. ถามว่า ปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นคืออะไร ก็ อาทิเช่น ถ้าค่าเงินหยวนร่วงลงรุนแรง จะฉุดให้ค่าเงินเอเชียร่วงลงไปด้วยทั้งภูมิภาค และลุกลามกลายเป็นวิกฤตได้ แต่ตอนนี้รัฐบาลจีนก็ดูเรื่องนี้อยู่ และหยวนต่อดอลล่าร์ก็เริ่มทรงตัวแล้ว
3. ถามว่า แล้วประเทศไทยเองเสี่ยงที่จะเจอวิกฤตเหมือนเมื่อครั้งต้มยำกุ้งอีกหรือไม่ ตอบว่า เศรษฐกิจยังไปได้อยู่ มีเงินสำรองต่างประเทศเพียงพอ อัตราการว่างงานต่ำกว่า 1% ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ แต่ก็ด้วยความแข็งของค่าเงินบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยโตยาก
4. สิ่งที่น่าเป็นห่วงของเมืองไทย คือความสามารถในการแข่งขัน
ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตามเราทันหมดแล้ว และอาจแซงเราได้ในเร็ววันนี้ ทั้ง อินโดฯ อินเดีย ที่โตเร็วมาก เช่นเดียวกับ จีน ฟิลิปปินส์ ทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยโตปีละ 3% เทียบกับทั่วโลกถือว่าไม่น้อย แต่เราแพ้เพื่อนบ้านที่โตกันปีละ 5-6%
5. ถามว่า เรื่องฟองสบู่อสังหาล่ะ น่าเป็นห่วงหรือไม่
ดร.ศุภชัย ตอบว่า ปัจจุบันมีการปล่อยสินเชื่ออสังหาฯ ในปริมาณที่สูงมาก ทำให้เกิดโครงการใหม่ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด จนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยเกิด oversupply อยู่หลายหมื่นยูนิต ผู้ประกอบการจึงหันไปจับลูกค้ากลุ่มบนและชาวต่างชาติแทน
แต่การไปจับลูกค้าต่างชาติก็ต้องระวัง เพราะถ้าวันหนึ่งพวกเขาหยุดซื้อขึ้นมา สินเชื่อจำนวนมากจะกลายเป็น NPL และสุดท้ายแบงก์ก็จะมีปัญหาจนส่งผลกระทบไปถึงเศรษฐกิจโดยรวม
อย่าชะล่าใจว่าปัญหายังไกลตัว สมัยก่อนคนก็พูดแบบนี้ สุดท้ายจึงกลายเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง!!
6. ปัจจัยเสี่ยงอีกประการหนึ่งมาจากต่างประเทศ คือถ้าดอกเบี้ยขึ้นเร็ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ตามเทรนด์เศรษฐกิจโลกเวลานี้ ราคาอสังหาก็อาจร่วงลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน
7. ถามว่า แล้วจะเตรียมตัวป้องกันวิกฤตกันอย่างไร ดร.ศุภชัย ตอบว่า ประเทศเอเชียต้องช่วยกันระวังและสนับสนุนกันและกัน เงินทุนที่ประเทศเอเชียใช้ล้วนมาจากภายนอก เป็นการเข้ามาโดยปราศจากการควบคุม ปราศจาก governance
เงินพวกนี้ ถ้าวันหนึ่งจะไหลออก มันก็ออกได้ทันที พวกผู้จัดการกองทุนเขาไม่สนใจหรอกว่า ค่าเงินที่ผันผวนจะส่งผลเสียหายอย่างไรบ้าง!!
8. ประเทศในกลุ่มอาเซียนต้องใช้ประโยชน์จากความเป็น AEC หานโยบายที่จะป้องกันผลกระทบในทางลบที่อาจเกิดกับเรา โดยเป็นนโยบายที่กระตุ้นการเติบโตและสนับสนุนการค้าการลงทุน ถ้าทำได้ก็จะลดแรงกระแทกหากทางต่างประเทศเกิดอะไรขึ้น
นี่ AEC ก็เริ่มมาปีกว่าแล้ว แต่ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย มีแต่ชื่อสวยๆ เท่านั้น ควรทำอะไรที่เป็นรูปธรรมได้แล้ว
———
ที่มาของข้อมูล : Nikkei Asian Review June 26- July 2, 2017
Image credit : Roberto Barroso / Abr (source: wikipedia)
หมายเหตุ – ข้อเขียนนี้เป็นการสรุปความ มิได้แปลออกมาแบบคำต่อคำ โดยผมพยายามถอดความให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับที่สุด หากมีข้อผิดพลาดใดๆ ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้