‘วีไอ’ กับ ‘กำไร’ ที่ได้ตั้งแต่ซื้อ

beach-2952391_960_720

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

เป็นที่ทราบกันดีว่า หลักของนักลงทุนเน้นมูลค่า หรือ VI คือ ซื้อกิจการที่ดี มีคุณภาพ ราคาไม่แพง โดยเมื่อเข้าซื้อแล้ว มักไม่มีกำหนดว่าจะขายหุ้นทิ้งเมื่อไร

ด้วยเหตุนี้ VI หลายท่านคงเคยเจอคำถามจากคนทั่วไปคล้ายๆ กันว่า ถ้าไม่ขายหุ้นแล้วจะได้อะไร”  หรือไม่ก็ถ้าไม่ขาย แล้วจะกำไรได้อย่างไร”

ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจก่อนว่า คนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่า “กำไร” ควรอยู่ในรูปของ “เงินสด” เท่านั้น ถ้ายังไม่ได้เงินสดมาไว้ในมือ คือยังไม่ได้กำไร

ความเชื่อที่ว่า จะ realize กำไรได้ก็ต่อเมื่อได้เงินสด เป็นการ  “สร้างข้อจำกัด” ให้กับตัวเองอย่างมาก

ความฝังใจว่า ไม่ขาย = ไม่ได้เงินสด =ไม่ได้กำไร” เป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้ในตลาด เต็มไปด้วย “นักเก็งกำไร” ที่พร้อมจะขายหุ้นเพื่อให้ได้เงินมาเก็บไว้ แล้วเอาไปซื้อหุ้นตัวต่อไป และต่อๆ ไป ไม่มีจบสิ้น

ต่างจาก VI ที่ ได้กำไรตั้งแต่ตอนซื้อ”

คำกล่าวว่า “ได้กำไรตั้งแต่ตอนซื้อ” หลายท่านคงเคยได้ยินมาก่อนหน้านี้ แต่แท้ที่จริงแล้ว มันหมายความว่าอย่างไรแน่? หรือเป็นเพียงคำพูดเท่ๆ แต่กินไม่ได้?

อธิบายอย่างนี้ครับ .. คนเป็น VI จะ “เก่ง” หรือ “ไม่เก่ง” นั้น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการ “หามูลค่า” เชิงปริมาณ

หากเรามั่นใจว่า กิจการที่เล็งจะซื้อ ขายอยู่ ณ ราคาต่ำกว่ามูลค่าพอสมควร หรือมี Margin of Safety ค่อนข้างมาก เราก็สมควรที่จะเข้าไปซื้อ

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราประเมินแล้วว่า หุ้นของบริษัท A มีมูลค่าแท้จริงอยู่ที่ 8-10 บาท แต่ราคาขณะนั้นอยู่ที่ 6 บาท

เช่นนี้ การเข้าซื้อหุ้นของบริษัท A จึงแปลว่า เรากำลังเอา สินทรัพย์ มูลค่า 6 บาท” ในรูปของ “เงินสด” ไปแลกกับ สินทรัพย์มูลค่าอย่างน้อย 8 บาท” ในรูปของ “หุ้นบริษัท A” ถูกต้องไหมครับ?

การนำสินทรัพย์มูลค่า 6 บาท ไปเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์มูลค่าอย่างน้อย 8 บาท ทำให้ “ความมั่งคั่ง” หรือ wealth ของเรา เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 บาททันที”!! 

ซื้อหมื่นหุ้น ก็รวยขึ้นอย่างน้อย 2 หมื่นบาท ซื้อแสนหุ้น ก็รวยขึ้นอย่างน้อย 2 แสนบาท ซื้อล้านหุ้น ก็รวยขึ้นอย่างน้อย 2 ล้านบาท ตั้งแต่ตอนซื้อ!!

นี่แหล่ะครับ คือ “กำไร” … เป็นกำไรจาก “มูลค่า” ที่ไม่ใช่เงินสด”

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เอง ก็ลงทุนด้วยหลักคิดเช่นนี้ อาทิ ตอนที่เขาเข้าซื้อ “วอชิงตัน โพสต์” บริษัทสื่อยักษ์ใหญ่ในปี 1973

ปู่บัฟฟ์บอกว่า “คุณตลาด” เอา WPC มาขายให้ ด้วยราคาทั้งกิจการเพียง 80 ล้านเหรียญ ทั้งๆ ที่มูลค่าโดยเนื้อแท้ที่ปู่คำนวณได้นั้นสูงถึง 400 ล้านเหรียญ เรียกได้ว่า แค่ “ซื้อ” ก็ได้กำไรอื้อซ่าแล้ว (แต่แกไม่ได้ซื้อทั้งบริษัทนะครับ ซื้อเท่าที่จะหาหุ้นได้)

ที่ทำได้เช่นนี้ เพราะบัฟเฟตต์เป็นคนที่หามูลค่าและอ่านกิจการได้เก่งที่สุดในโลก

อาจกล่าวได้ว่า การ “หามูลค่าหุ้น” เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินความสามารถของ VI  ใครหาเก่ง ก็มีโอกาสได้กำไรเหนาะๆ ตั้งแต่ตอนซื้อ ใครหาไม่เก่ง วัดค่าไม่เป็น ก็ต้องไปอ่านที่คนอื่นเขาเขียนวิเคราะห์ไว้ เหมือนยืมจมูกคนอื่นหายใจ ผิดหรือถูกก็ไม่รู้

(วิธีหามูลค่าหุ้นนั้นมีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิธีง่ายๆ หรือวิธีขั้นสูงที่บัฟเฟตต์ใช้อย่าง DCF ซึ่งเราอธิบายไว้แล้วอย่างละเอียดในหนังสือ “ลงทุนอย่าง VI พันธุ์แท้” สนใจลองหาซื้ออ่านกันดูนะครับ)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ท่านที่ยังหามูลค่าไม่เป็นก็ไม่ต้องเสียกำลังใจนะครับ กระซิบนิดหนึ่งว่า ในทางปฏิบัติแล้ว นักลงทุนเก่งๆ เขาไม่ได้ลงทุนตามตัวเลขอย่างเดียวหรอก แต่เขามองกิจการในเชิงคุณภาพประกอบด้วย ซึ่งน่าจะมีน้ำหนักมากกว่าเชิงปริมาณเสียอีก

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือเราต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างคำว่า “นักเก็งกำไร” กับ “นักลงทุนตัวจริง”

นักเก็งกำไร” มักมุ่งที่จะสร้าง “เงินสด” ส่วนนักลงทุนตัวจริง” กลับมุ่งที่จะสร้างสินทรัพย์” เพื่อให้สินทรัพย์นั้น สร้าง “เงินสด” ให้กับเขา

แม้ว่าเงินสดจะมี “ความวิเศษ” คือการที่มันเป็น “สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน” สามารถเอาไปแลกเป็นอะไรก็ได้ เรียกได้ว่าตัวมันมี “สภาพคล่อง” สูงมาก

แต่นั่นทำให้ “นักเก็งกำไร” หลงมองเงินสดเป็น “เป้าหมาย” (End) มองว่ามันคือทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าไม่ได้เงินสด ก็ไม่ได้กำไร

ในขณะที่ “นักลงทุนตัวจริง” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “VI พันธุ์แท้” จะมองเงินสดเป็นเพียง “เครื่องมือ” (Mean) เพื่อเอาไปซื้อหุ้นดีๆ อันจะช่วยสร้างความมั่งคั่งที่ “ยิ่งใหญ่” และ “มั่นคง” กว่า

และเมื่อนั้น เราก็จะมี “เงินสด” ในรูปของ “เงินปันผล” ไว้ใช้ ไม่มีจบสิ้น

การมองข้าม “ผลประโยชน์เล็ก” เพื่อบรรลุ “เป้าหมายใหญ่” นี่เอง คือตัวตัดสินความสำเร็จในการลงทุนครับ

———————-

 

วิธีดู “เงินสด” โลหิตเลี้ยงกิจการ (๒)

cashflow

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

(ต่อจากตอนที่แล้ว)

คราวที่แล้วเราได้เกริ่นถึงการดู “เงินสด” โดยอธิบายไปแล้วว่า เงินสดมีความเคลื่อนไหวผ่านกิจกรรมทั้งสาม ได้แก่ “กิจกรรมดำเนินงาน” “กิจกรรมลงทุน” และ “กิจกรรมจัดหาเงิน” และพูดถึง “กิจกรรมดำเนินงาน” พอสังเขปว่าเป็นเรื่องของ “ธุรกิจหลัก” ของบริษัท ( ถ้ายังไม่ได้อ่านตอนที่แล้ว คลิกที่นี่ )

ในตอนนี้ เราจะว่ากันต่อจากคราวที่แล้วว่า มีวิธีดูกระแสเงินสดอีกสองตัวที่เหลือ อย่างไร อย่างไหนคือ “ดี” หรือ “ไม่ดี” ดังนี้ครับ

ในส่วนของ “กิจกรรมลงทุน” หลักการคือต้องดูว่า การลงทุนนั้นๆ สอดคล้องกับธุรกิจที่บริษัททำหรือเปล่า เช่น  ถ้าบริษัทผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และมีการลงทุนด้วยการซื้อเครื่องจักร เช่นนี้ก็ถือว่าไม่ขัดแย้งกัน

หรือหากบริษัทมีการซื้อที่ดิน เราก็ต้องตามไปดูต่อว่า บริษัทซื้อไปเพื่ออะไร ถ้าซื้อที่ดินเพื่อขยายกิจการ เช่น เอาไปสร้างคลังสินค้า หรือเปิดโชว์รูมใหม่ ก็ถือว่าโอเค (แต่จะสอดคล้องกับแผนงานของบริษัทหรือไม่ขนาดไหน ก็แล้วแต่จะพิจารณา)

แต่ถ้าเป็นที่ดินที่เจ้าของอยากได้ จึงไปซื้อเก็บไว้เฉยๆ โดยไม่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ เช่นนี้ไม่เข้าท่าแน่นอน เพราะเป็นการเอาเงินสดของกิจการไปใช้เพื่อสนองความต้องการส่วนตน

ถ้ากิจกรรมลงทุนนั้นๆ ทำไปโดยไม่สอดคล้องกับธุรกิจหลักของบริษัท เช่น เป็นบริษัททำบ้านจัดสรร แต่กลับไปซื้อสนามกอล์ฟ โดยอ้างว่าเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทว่าเมื่อดูลึกไปในรายละเอียดกลับพบว่า สนามกอล์ฟนั้นเป็นสมบัติของตระกูลของเจ้าของ เช่นนี้เราก็ต้องตั้งคำถามให้จงหนัก ว่าการใช้เงินสดครั้งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์บริษัทจริงหรือไม่อย่างไร

นอกจากนี้ ยังมีบางกรณี เช่น บริษัทเอาเงินสดที่เหลือไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งแม้ดูเหมือนจะเป็นการลงทุนที่ปลอดภัย แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัท นักลงทุนจึงต้องตั้งคำถามกับผู้บริหารว่าเหตุใดจึงลงทุนเช่นนั้น

โดยหากผู้บริหารเอาเงินสดไปซื้อพันธบัตร ด้วยเจตนาที่จะเก็บเงินไว้เพื่อเตรียมลงทุนในระยะเวลาอันใกล้ ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

แต่ถ้าไม่มีแผนการลงทุนที่ชัดเจน แทนที่จะเอาเงินสดไปแช่ไว้ในพันธบัตรหลายๆ ปี สู้จ่ายออกมาเป็นเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นหรืออย่างน้อยก็เอาไปชำระหนี้ของบริษัทจะดีกว่าหรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่สมควรถูกตั้งคำถามทั้งสิ้น

bgh6

สุดท้ายก็เป็นเรื่องของ “กิจกรรมจัดหาเงิน” ซึ่งหลักๆ ก็คือ “การกู้เงิน” กับ “การจ่ายเงินปันผล” ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง

หากบริษัทมีการจ่ายปันผล แปลว่า บริษัทมีเงินสดที่จะจ่ายให้ผู้ถือหุ้นได้ (เงินสดออกจากบริษัท) ตรงข้ามกับการที่บริษัทไปกู้เงินมา (เงินสดเข้าบริษัท) แน่นอนว่าจะมีเงินสดเพิ่มขึ้น แต่หนี้สินก็เพิ่มด้วย

ดังนั้น พอสรุปได้ว่า สำหรับ “กิจกรรมจัดหาเงิน” ถ้าเงินสด “ออก” จากบริษัท หรือเป็น “ลบ” แปลว่า “ดี” เพราะนั่นหมายความว่าบริษัทไม่ต้องหาเงินจากภายนอก หรือแปลความได้ว่ากิจการ “ไม่ร้อนเงิน”

แต่ถ้าเงินสด “เข้า” มาในบริษัท หรือเป็น “บวก” แปลว่าบริษัทกำลังต้องการเงิน จึงต้องไปกู้หนี้ยืมสิน เพิ่มทุน หรือใช้วิธีอื่นใดเพื่อให้ได้เงินเข้ามา

ยังมีกรณีอื่นๆ อีกเช่น บริษัทไปกู้เงินธนาคารไว้ ครั้นกิจการทำกำไรได้ มีเงินสดเหลือ จึงเอาเงินสดใช้หนี้ธนาคาร เช่นนี้กระแสเงินสดจะเป็น “ลบ” ซึ่งก็ถือว่า “ดี” อีกเช่นกัน เพราะหากกิจการไม่อยู่ในสถานะที่ดี คงหาเงินมาใช้หนี้แบงก์ไม่ได้

นี่คือภาพรวมๆ ของการดูงบกระแสเงินสด ซึ่งเป็นสิ่งที่วีไอทุกคนควรรู้เป็นอย่างยิ่งครับ


ใครสนใจเรียนแกะงบออนไลน์ พร้อมเรียนสด ประเมินมูลค่าหุ้นและทำ DCF วันที่ 6 ต.ค. คลิกที่ลิงค์นี้เลย https://clubvi.com/valuationanddcf9/