20 วรรคทองล่าสุดจากปาก ชาร์ลี มังเกอร์

เรียบเรียงโดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ผมอ่านเว็บไซต์ Business Insider เจอวรรคทองของชาร์ลี มังเกอร์ รองประธานเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ ซึ่งไปพูดที่ ​California Institute of Technology เมื่อวันจันทร์ที่ 15 ธ.ค. 2020 ผ่านมา

โดย มังเกอร์ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทและมือขวาของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ พูดถึงความร้อนแรงของตลาดหุ้น ณ ตอนนี้ และฝากไว้ด้วยข้อคิดคมๆ มากมายตามสไตล์ ผมสรุปมาให้อ่านกันเป็นข้อๆ รวม 20 ข้อ ดังนี้ครับ

  1. “เห็นได้ชัดมากๆ เลยว่าความได้เปรียบในระยะยาวที่คนอย่างเราๆ ได้รับจากการพยายามไม่โง่อยู่เสมอ แทนที่จะพยายามฉลาดอยู่เสมอนั้นมากมายเพียงใด”
  2. “มีกิจกรรมบ้าๆ เกิดขึ้นในสนามการลงทุนมากมาย เกือบทุกคนที่เฉลียวฉลาดต่างถูกเงินดูดเข้าไปในสนามการลงทุน แต่ผมไม่เห็นด้วยเลยแม้แต่น้อย ผมไม่คิดว่าเราอยากเห็นคนทั้งโลกดิ้นรนไขว่คว้าหาความรวยด้วยการพยายามเอาชนะคนอื่นๆ”
  3. “เทคโนโลยีเป็นนักฆ่า พอๆ กับที่เป็นโอกาส”
  4. “เบิร์คเชียร์เป็นเจ้าของ เบอร์ลิงตัน นอร์ธเทิร์น เรลโร้ด คุณคงนึกแทบไม่ออกเลยว่าจะมีธุรกิจไหนที่เชยได้มากกว่าธุรกิจรถไฟ ก็ไอ้บ้าที่ไหนล่ะจะมาสร้างรางรถไฟสำหรับขนของ เราทำอย่างนี้จนสำเร็จ ไม่ใช่ด้วยการเอาชนะการเปลี่ยนแปลง แต่ด้วยการหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลง”
  5. “ผมคอยเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าเคยทำผิดพลาดอะไรมาแล้วบ้าง โดยพยายามทำทุกสิ่งให้เรียบง่ายและพื้นๆ ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และผมก็ชอบคอนเซ็ปต์ทางวิศวกรรมของส่วนต่างแห่งความปลอดภัย ผมเป็นนักคิดประเภทชอบขวางและชอบปะทะ ทั้งหมดก็เพื่อพยายามและหลีกเลี่ยงที่จะไม่โง่เท่านั้นเอง”
  6. “สิ่งสำคัญที่สุดสิ่งเดียวที่คุณต้องการ คือหลีกเลี่ยงไม่ทำผิดพลาดแบบโง่ๆ รู้ขอบเขตความสามารถของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมากเพราะความคิดของมนุษย์มักหลอกตัวเองว่าเราฉลาดว่าที่เราเป็น”
  7. “สิ่งสุดท้ายที่ผมอยากทำในธุรกิจค้าปลีกคือการแข่งกับคอสก์โก”
  8. “สิ่งที่บัฟเฟตต์และผมทำ คือเราซื้อสิ่งที่มีอนาคต บางครั้งเราอาจจะมีแรงหนุนจากเศรษฐกิจ บางครั้งเราอาจจะเจอแรงต้าน แต่เราก็ว่ายน้ำต่อไปเรื่อยๆ นี่แหละคือระบบของเรา”
  9. “คุณไม่มีทางประสบความสำเร็จในชีวิตได้ถ้าไม่ทำอะไรยากๆ แล้วผิดพลาดเสียบ้าง มันคือธรรมชาติของเกม และคุณคงไม่มีวันที่จะกล้าพอ ถ้าคิดแต่จะหลีกเลี่ยงทุกสิ่งซึ่งไม่เป็นไปอย่างที่คิด”
  10. “ผู้คนมากมายโดดเข้าไปร่วมวง ความบ้าคลั่งนั้นมากมายเหลือเกิน ระบบผลตอบแทนก็แสนโง่เง่า ผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วผลตอบแทนจะลดลงเอง (พูดถึงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขณะนี้)”
  11. “เราว่ายอยู่ในสายน้ำที่ไม่เคยมีใครแหวกว่ายมาก่อน ไม่เคยมีใครมาถึงจุดนี้ด้วยเงินที่ปริ๊นท์ออกมามากมายขนาดนี้ และลากยาวมาได้นานขนาดนี้โดยยังไม่เจอปัญหาอะไรเลย เราเล่นกับไฟมาจนถึงจุดที่อันตรายแล้วจริงๆ” (พูดถึงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขณะนี้)
  12. “ผมยังจำได้ว่าเคยกินมื้อเย็น เป็นฟิเลมิยองเสิร์ฟห้าคอร์สราคาแค่ 60 เซนต์ที่โอมาฮาสมัยยังเด็ก โลกเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ”
  13. ไม่มีใครรู้หรอกว่าฟองสบู่จะแตกเมื่อไร แต่การที่มันคือตลาดแนสแด็ค ไม่ได้แปลว่ามันจะมีอย่างนี้เกิดขึ้นอีกในเร็ววัน ที่เป็นอยู่นี่มันเหลือเชื่อสุดๆ ไม่เคยมีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นมาก่อนเลย” (พูดถึงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขณะนี้)
  14. “ลองนึกดูสิว่า Apple มีมูลค่าเท่าไร เมื่อเทียบกับอาณาจักรของจอห์น ดี ร็อคกีเฟลเลอร์ นี่คือสิ่งที่เหนือจริงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของโลกการเงินจริงๆ”
  15. ใครจะไปคิดล่ะว่าพวกคอมมิวนิสต์ไม่กี่คน ที่บริหารโดยพรรคๆ เดียว จะสร้างสถิติการลงทุนที่ดีที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา
  16. “ผมคิดว่านักลงทุนระดับเซียนมีความคล้ายกับนักเล่นหมากรุกในระดับหนึ่ง คือแทบจะเกิดมาเป็นนักลงทุนเลยก็ว่าได้”
  17. “คุณต้องรู้ให้มากเข้าไว้ แต่ส่วนหนึ่งมันเป็นเรื่องของอารมณ์ ส่วนหนึ่งมันคือการอดทนรอสิ่งที่อยากได้ คุณต้องพร้อมที่จะรอ การลงทุนที่ดีต้องอาศัยทั้งความอดทนและความกล้า ซึ่งมีคนไม่มากนักหรอกที่จะมีสองสิ่งนี้ ทั้งยังต้องรู้จักตัวเองเป็นอย่างดีว่าคุณรู้มากแค่ไหนและยังไม่รู้อีกมากแค่ไหน คุณต้องรู้ขอบเขตความสามารถของตัวเอง คนฉลาดจำนวนมากคิดว่าตัวเองฉลาดกว่าที่เป็นจริง ซึ่งแน่นอนว่าทั้งอันตรายและก่อปัญหา”
  18. “สิ่งที่ช่วยทุกคนได้ คือการเกาะไปกับอะไรที่กำลังขึ้น มันจะลากคุณขึ้นไปเองโดยที่คุณไม่ต้องทำอะไรมากนัก”
  19. “ถ้าคุณไล่ล่าหางานโดยมีความคลั่งไคล้ มันก็น่าจะเวิร์กกว่าการที่ไม่มีความคลั่งไคล้อะไรเอาเสียเลย ลองดูวอร์เรน บัฟเฟตต์ สิ เขามีความสนใจระดับคลั่งไคล้ในการลงทุนมาตั้งแต่ยังเด็กมากๆ แล้วเขาก็ลงทุนทีละเล็กละน้อยเรื่อยมา สุดท้ายจึงค้นพบวิธีทำมันให้ดี”
  20. “ผมไม่ได้ภูมิใจกับการทำการกุศลของตัวเองมากนัก ผมมองว่ามันคือหน้าที่ขั้นต่ำสุดของคนที่ประสบความสำเร็จที่จะต้องรู้จักให้ ผมไม่คิดว่าควรคุณจะได้แต้มบุญใดๆ จากการกุศลที่คุณทำ”

ภาพประกอบโดย Nick : https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=75743370

ข้อมูลประกอบจากเว็บ Business Insider โดย Theron Mohamed

ชาร์ลี มังเกอร์ ที่สอง..ที่โลกต้องจดจำ

Charlie_Munger

ชาร์ลี มังเกอร์

(1924-ปัจจุบัน)

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ชาร์ลี มังเกอร์ เป็นรองประธานบริหารของเบิร์คไชร์ ฮาแธเวย์ เขาเป็นคู่หูของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก และเป็นผู้ร่วมก่อร่างสร้างเบิร์คไชร์จนกลายเป็นมหาอาณาจักรการลงทุนที่ยิ่งใหญ่

มังเกอร์เกิดเมื่อปี 1924 ที่โอมาฮา เช่นเดียวกับบัฟเฟตต์ โดยเขาแก่กว่าวอร์เรน 6 ปี สมัยวัยรุ่น เขาเคยทำงานในร้านขายของชำของคุณปู่ของวอร์เรน และถูกใช้งานหนักมาก แต่ก็ได้เรียนรู้เรื่องธุรกิจมากมายจากการรับจ็อบที่ร้านของครอบครัวบัฟเฟตต์ในครั้งนั้น

คู่หูของบัฟเฟตต์ผู้นี้ เป็นคนเฉลียวฉลาดและเชื่อมั่นในตัวเอง อุปนิสัยติดดิน กินง่ายอยู่ง่ายเช่นเดียวกับปู่บัฟฟ์ ที่ต่างกันคือปู่มังก์มีบุคลิกโผงผาง พูดจาขวานผ่าซากจนหลายคนมองว่าหยาบคาย ต่างจากบัฟเฟตต์ที่สุภาพ พูดจาดี และน่าคบหากว่า

หลังจบมัธยมฯ มังเกอร์เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนในสาขาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ แต่แล้วเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เขาก็ต้องพักการเรียนและถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารในกองทัพเช่นเดียวกับคนหนุ่มในยุคนั้น โดยประจำการอยู่ที่อลาสก้าในตำแหน่งนักอุตุนิยมวิทยา พอสงครามยุติลง เขาไม่ได้กลับไปเรียนที่มิชิแกน แต่เบนเข็มไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คณะนิติศาสตร์ และจบปริญญาตรีในปี 1948 ด้วยดีกรีเกียรตินิยม

หลังจากจบฮาร์วาร์ด มังเกอร์ร่วมกับเพื่อนอีก 6 คน ตั้งสำนักงานกฎหมายของตัวเอง ชื่อ มังเกอร์, โทลส์ แอนด์ โอลสัน โดยตัวเขาเป็นทนายความด้านอสังหาริมทรัพย์ พอถึงปี 1965 เขาวางมือจากการด้านกฎหมาย และหันมาทำงานด้านการลงทุนเต็มตัว โดยร่วมหุ้นกับเพื่อนเปิดบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และบริษัทการลงทุน

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยเขียนเล่าไว้ว่า ตั้งแต่ปี 1962-75 บริษัทการลงทุนของมังเกอร์ทำผลตอบแทนทบต้นได้ถึง 19.8% ต่อปี ขณะที่ ดาวโจนส์ ให้ผลตอบแทนเพียง 5% จนฐานะของมังเกอร์ในเวลานั้น ถือว่าเข้าขั้น “เศรษฐี” เลยทีเดียว

นั่นหมายความว่า ชาร์ลี มังเกอร์ “เก่ง” และ “รวย” ตั้งแต่ก่อนที่จะมาเจอบัฟเฟตต์ ไม่ใช่รวยเพราะมาทำงานกับปู่บัฟฟ์เหมือนที่หลายคนเข้าใจ

ที่จริงแล้ว การพบกันครั้งแรกของมังเกอร์และบัฟเฟตต์เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1959 ระหว่างที่มังเกอร์ยังทำงานด้านกฏหมายอยู่ โดยเพื่อนของพวกเขานัดให้มารับประทานอาหารกลางวันกัน ปรากฏว่าทั้งสองถูกชะตากันตั้งแต่แรกพบ และรู้สึกทันทีว่าอีกฝ่ายมีอะไรที่คล้ายคลึงกับตนเอง

บัฟเฟตต์พยายามหว่านล้อมมังเกอร์ว่าเขาน่าจะทำอย่างอื่นกับชีวิตแทนที่จะเป็นนักกฏหมาย โดยชี้ให้เห็นว่าการลงทุนเป็นอาชีพที่ดีและทำเงินได้เยอะกว่ามาก เป็นไปได้ว่าคำแนะนำของบัฟเฟตต์ครั้งนั้นน่าจะมีอิทธิพลให้มังเกอร์เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักลงทุนเต็มตัวในเวลาต่อมา

หลังจากนั้น ทั้งคู่ยังติดต่อกันเป็นครั้งคราว ก่อนจะมาร่วมงานกันอย่างเป็นทางการในปี 1978  โดยบัฟเฟตต์ชวนให้มังเกอร์มารับตำแหน่งรองประธานของเบิร์คไชร์ ฮาแธเวย์ ซึ่งตัวเขาเป็นประธานอยู่

พอได้มาร่วมงานกัน มังเกอร์และบัฟเฟตต์กลายเป็นสองคน สองคม ต่างรู้อกรู้ใจ เติมเต็มความคิดซึ่งกันและกัน ทำงานเข้าขา จนเบิร์คไชร์เติบใหญ่ต่อเนื่องกลายเป็นองค์กรขนาดยักษ์อันดับต้นๆ ของโลก ต้องถือว่าเป็นคู่หูที่ฟ้าลิขิตให้มาเจอกันโดยแท้

ที่สำคัญที่สุดคือ มังเกอร์ได้ทำให้บัฟเฟตต์ มาถึง “จุดก้าวกระโดด” สำคัญของชีวิต โดยเขาเป็นผู้ทำให้ “เทพเจ้าแห่งโอมาฮา” สลัดตัวเองหลุดจากกฏเกณฑ์ในการเลือกหุ้นอันเข้มงวดของเบนจามิน เกรแฮม และหันมาให้ความสำคัญกับปัจจัยเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนมากขึ้น อันเป็นแนวทางของฟิลิป ฟิชเชอร์ กูรูการลงทุนอีกคนหนึ่ง อันถือเป็นการ “เปิดโลกใหม่” ให้กับบัฟเฟตต์เลยก็ว่าได้

หลายคนมองว่า หากไม่ได้มังเกอร์ บัฟเฟตต์คงพลาดโอกาสงามๆ ในการลงทุนอีกมาก ซึ่งรวมถึง โคคา โคล่า, พีแอนด์จี ฯลฯ แม้บัฟเฟตต์เองยังยอมรับว่า เขาเป็น “หนี้ความรู้” มังเกอร์ โดยบอกว่าตัวเขาคง “จน” กว่านี้เยอะ ถ้าฟังแต่ เบนจามิน เกรแฮม เพียงคนเดียว

หลักในการลงทุนข้อใหญ่ๆ ของมังเกอร์ ค่อนข้างคล้ายคลึงกับบัฟเฟตต์ โดยให้เน้นธุรกิจที่มีคุณภาพ มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน ฐานะทางการเงินดี มีความสามารถในการทำกำไร มีส่วนต่างแห่งความปลอดภัย มีผู้บริหารที่เก่งและซื่อสัตย์

ทั้งนี้ มังเกอร์เป็นคนทำให้บัฟเฟตต์เลิกค้นหา “บริษัทระดับปานกลางในราคาถูก” แต่ให้หา “บริษัทยอดเยี่ยม ในราคายุติธรรม” อันเป็นหลักคิดที่พิสูจน์แล้วว่าถูกต้องอย่างยิ่ง

ทุกวันนี้ มังเกอร์ยังทำงานกับบัฟเฟตต์ด้วยความสนุกสนานในออฟฟิศเล็กๆ ของเบิร์คไชร์ ในโอมาฮา เหมือนที่เป็นมาตลอดหลายสิบปี บัฟเฟตต์บอกว่า เขาและมังเกอร์จะทำงานต่อไปจนกว่าจะจำกันและกันไม่ได้

นอกจากนี้ ในการประชุมประจำปีของเบิร์คไชร์ทุกครั้ง มังเกอร์จะนั่งเคียงข้างบัฟเฟตต์บนเวที ต่อหน้านักลงทุนหลายหมื่นคนที่หลั่งไหลกันมาจากทั่วโลก เพื่อตอบคำถามและพบปะกับพวกเขาเหล่านั้นเป็นเวลาหลายต่อหลายชั่วโมง

แม้ว่า “ที่สอง” มักไม่ค่อยเป็นที่จดจำของผู้คน แต่หากไม่มี “ที่สอง” อย่างมังเกอร์ ก็อาจไม่มี “ที่หนึ่ง” อย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ในวันนี้ก็เป็นได้

นั่นทำให้เราควรยกย่อง ชาร์ลี มังเกอร์ รองประธานของเบิร์คไชร์ ฮาแธเวย์ ในฐานะ “ที่สอง ที่โลกต้องจดจำ” และจารึกชื่อของเขาไว้ในทำเนียบสุดยอดนักลงทุนโลกอย่างเต็มภาคภูมิ!!

ข้อมูลอ้างอิง: 4 Investment Gurus, The Great Investors, The Essays of Warren Buffett, Wikipedia

ภาพประกอบ : Moneynews.com