โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
เมื่อไม่กี่วันมานี้ มีข่าวการซื้อกิจการที่สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก คือ “ติตี้ ชูสิง” (滴滴出行) บริษัทเรียกแท็กซี่สัญชาติจีน เข้าซื้อธุรกิจในจีนของ “อูเบอร์” (Uber) บริษัทเรียกแท็กซี่สัญชาติอเมริกัน โดยก่อนที่จะเล่าถึงรายละเอียดและความน่าสนใจ ผมขอเท้าความถึงการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเรียกแท็กซี่ของจีน ก่อนหน้าที่จะมาถึงดีลนี้กันสักเล็กน้อยนะครับ
เดิมที ธุรกิจเรียกแท็กซี่ของประเทศจีน เป็นการขับเคี่ยวกันของยักษ์ใหญ่สองราย รายแรกคือ “ติตี้ ต่าเชอ” (滴滴打车) (ต่าเชอ แปลว่า “เรียกแท็กซี่” ส่วน ติตี้ เป็นชื่อเฉพาะ) ถือหุ้นใหญ่โดย “เท็นเซ็นต์” (Tencent) บริษัทอินเตอร์เน็ตผู้ผลิตเกมออนไลน์ชื่อดัง
อีกบริษัทคือ “ไคว่ตี้ ต่าเชอ” (快弟打车) (ไคว่ตี้ แปลว่า “ด่วน” ไคว่ตี้ต่าเชอ จึงแปลว่า “เรียกแท็กซี่ด่วน”) ถือหุ้นใหญ่โดยอาลีบาบา (Alibaba) บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีน
ทั้งสองบริษัทฟาดฟันกันอย่างดุเดือดมาเป็นเวลานานหลายปี โดย ติตี้ ต่าเชอ เป็นหมายเลขหนึ่ง ครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์ ส่วนไคว่ตี้ ต่าเชอ เป็นหมายเลขสอง กินส่วนแบ่งตลาดที่เหลือเกือบทั้งหมด เหลือส่วนแบ่งให้บริษัทอื่นๆ เพียงเล็กน้อย
หนึ่งในนั้นคือ อูเบอร์ แอพเรียกแท็กซี่อันดับหนึ่งจากสหรัฐอเมริกา!
ด้วยความที่แข่งกันดุ ฐานลูกค้าก็ไม่ต่างกันมากนัก พูดง่ายๆ คือ “ตัวเท่าๆ กัน” ยิ่งฟาดฟันจึงยิ่งเจ็บตัวกันไปทั้งสองฝ่าย อีกทั้งบริษัทแม่ของทั้งคู่ คือ เทนเซนต์ และ อาลีบาบา ก็มีศักดิ์ศรีไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เกมนี้จึงไม่รู้จะไปจบลงที่ตรงไหน มองไปข้างหน้าไม่เห็นโอกาสที่ใครจะชนะได้เบ็ดเสร็จ คงต้องห้ำหั่นเลือดสาดกันไปเรื่อยๆ
สุดท้าย เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2015 ทั้งสองเจ้าจึงตัดสินใจ “ควบรวมกิจการ” กลายเป็นบริษัทใหม่ชื่อ “ติตี้ ไคว่ตี้” ยักษ์ใหญ่ที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คำนวณ ณ เดือนมิถุนายน ปี 2016) คิดเป็นเงินไทยเกือบๆ หนึ่งล้านล้านบาท
และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “ติตี้ ชูสิง” (滴滴出行) (ชูสิง แปลว่า “เดินทาง”) ในเวลาต่อมา
เมื่อ “ยักษ์” ควบ “ยักษ์” คิดดูก็แล้วกันว่า ตัวเล็กตัวน้อยอย่างอูเบอร์จะเหลืออะไร ปกติสู้กับสองยักษ์ก็ยากอยู่แล้ว พอเขาเป็นเนื้อเดียวกันจึงยิ่งเหนื่อยหนัก โดยในช่วงสองปีหลัง อูเบอร์ขาดทุนบักโกรกถึง 2,000 ล้านเหรียญ
ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมแอพเรียกแท็กซี่ในจีนจึงเกิดการควบรวมกิจการกันอีกครั้งหนึ่ง โดยติตี้ ชูสิง ยอมจ่ายเงิน “หนึ่งพันล้านเหรียญ” เพื่อซื้อกิจการของ “อูเบอร์” และกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก
ทั้งที่จริงแล้ว การควบรวมครั้งนี้ไม่ได้ใหญ่เหมือนครั้งก่อน แต่ด้วยปรากฏการณ์ “จีน” ซื้อ “อเมริกัน” จึงกลายเป็นเรื่องครึกโครม
โดยหลังจากรวมกัน อูเบอร์จะได้หุ้นในบริษัทใหม่ (ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะมีการเปลี่ยนชื่ออีกหรือไม่) สูงสุดถึงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ โดยแบ่งเป็นหุ้นสามัญ 5.89 เปอร์เซ็นต์ และหุ้นบุริมสิทธิ์อีก 17.7 เปอร์เซ็นต์
จะว่าไป หากดูจากสภาพการแข่งขัน ดีลนี้ถือเป็นการตัดสินใจที่สมเหตุสมผลแล้ว และไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดเลย
กล่าวคือ อูเบอร์ยอม “หยุดเลือด” ที่กำลังไหล และยอมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของผู้ชนะเพื่อที่จะไม่ต้องเจ็บตัวต่อไป นอกจากนี้ ยังเป็นการ “กำจัดจุดอ่อน” เพื่อแต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์อเมริกาอีกด้วย ฝ่ายติตี้ก็ยอมจ่าย เพื่อแลกกับการ “กินรวบ” ธุรกิจเรียกแท็กซี่ในเมืองจีนแต่เพียงผู้เดียว
ว่ากันว่าหลังจากควบรวมกันครั้งนี้ บริษัทใหม่จะมีมูลค่าถึง 35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ “1,225,000 ล้านบาท” (อ่านว่า หนึ่งล้านสองแสนสองหมื่นห้าพันล้านบาท) เรียกได้ว่าเติมศูนย์กันไม่ถูกเลยทีเดียว
ก่อนหน้านี้ ในวงการธุรกิจจีน ปรากฏการณ์ “จีนชนะอเมริกา” เคยมีให้เห็นกันมาไม่ใช่น้อย ที่เป็นที่จดจำที่สุด คงหนีไม่พ้นการที่ “เถาเป่า” (淘宝) เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของอาลีบาบา สามารถเอาชนะ อีเบย์ (EBay) ยักษ์ใหญ่อเมริกันได้อย่างราบคาบภายในเวลาไม่ถึงสองปี นับเป็นกรณีศึกษาทางธุรกิจที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวจีนทั้งปวง
ครั้งนั้น แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ฝากวาทะเด็ดไว้กับคนของเขาว่า
“อีเบย์คือฉลามในมหาสมุทร เราคือจระเข้ในแม่น้ำแยงซี ถ้าเราสู้ในมหาสมุทร เราแพ้แน่ แต่เพราะเราสู้ในแม่น้ำ เราจึงจักชนะ”
นี่เป็นคำประกาศก้องของพญามังกรร่างผอมที่ดังกึกก้องไปทั่วประเทศ
กรณี “ติตี้ ซื้อ อูเบอร์” จึงเป็นอีกครั้งที่ “จระเข้แยงซี” กินเนื้อ “ฉลามจากมหาสมุทร” และตอกย้ำความ “โหดหิน” ของสนามธุรกิจแห่งแผ่นดินมังกรให้โลกได้เห็นเป็นประจักษ์อีกครั้งหนึ่ง!
(ข้อมูลประกอบจาก CNBC .com, Bloomberg .com, wikipedia)