โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
สมัยยังเป็นวัยรุ่นอายุแค่ 16 วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยอยากรู้อยากเห็น ไปลองเข้า “สนามม้า” ดู
ปู่เป็นคนที่สนใจในเรื่อง “แต้มต่อ” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “แฮนดิแคป” มาแต่เล็กแต่น้อย โดยแกได้เรียนรู้ว่า “หากเรามีข้อมูลที่มากกว่าคนอื่น และเอามาวิเคราะห์และใช้มันอย่างเป็นเหตุเป็นผล เราก็สามารถที่จะเอาชนะคนอื่นได้”
นี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่า “แต้มต่อ”
ปู่ยกตัวอย่างให้ฟังว่า ในสนามแข่งม้า จะมีนักพนันหน้าใหม่เข้ามาเล่นม้าอยู่เสมอ พอม้าที่พวกเขาแทงไว้เข้าเป็นที่สองหรือที่สาม คนพวกนี้ก็มักจะทิ้งตั๋วลงไปบนพื้นและไม่สนใจมันอีก เพราะคิดว่าตัวเองไม่ได้ตังค์อยู่แล้ว
แต่ที่จริง มีอยู่หลายครั้งที่ม้าแข่งเข้าเส้นชัยอย่างสูสี และเจ้าของม้าที่เข้าเป็นที่สองหรือที่สาม ก็สามารถใช้สิทธิ์ “ประท้วง” ได้ ซึ่งบางทีก็นำไปสู่การกลับผลการแข่งขัน คือมีการประกาศม้าที่ชนะกันใหม่
ปู่บอกว่า หลังจากม้าแข่งจบแต่ละรอบ แกกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง ชื่อ บ๊อบ จะไล่เก็บตั๋วที่คนโยนทิ้งลงบนพื้น ซึ่งเป็นอะไรที่ออกจะน่าขยะแขยง เพราะมันทั้งสกปรก และบางทีก็มีคนถ่มน้ำลายไว้ แต่แกกับบ๊อบก็ทำด้วยความสนุกและอยากได้เงิน
ปู่เล่าต่อไปว่า ทุกครั้ง แกจะเจอตั๋วบางใบแทงม้าที่ชนะเอาไว้ แต่เจ้าของไม่รู้ เนื่องจากเป็นม้าที่ชนะหลังมีการเปลี่ยนผลการตัดสิน พอเจอตั๋วพวกนี้ แกก็จะฝากป้าอลิซ ป้าแท้ๆ ของแกไปขึ้นเงินให้ เพราะแกยังเด็ก ไม่สามารถเอาตั๋วไปขึ้นเงินเองได้
วิธีเช่นนี้แหละ คือสิ่งที่ปู่เรียกว่า “แฮนดิแคป” หรือ “แต้มต่อ” เหนือคนอื่น คือรู้ในสิ่งที่คนอื่นๆ ไม่รู้ ซึ่งช่วยให้เราทำเงินได้
นี่คือการหาประโยชน์จาก “ความไม่รู้” ของผู้คน
ไม่ใช่แค่นั้น ปู่ยังศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับม้าแข่ง แล้วร่วมกับบ๊อบทำ “โพยม้า” ออกมาขาย ซึ่งก็ขายดิบขายดีพอสมควร ปู่บอกว่า การจะวิเคราะห์ให้ได้ว่าม้าตัวไหนจะชนะ แท้จริงแล้วประกอบไปด้วยสองอย่างเท่านั้น หนึ่งคือ การเก็บข้อมูล และสองคือ คณิตศาสตร์
เท่านั้นยังไม่พอ ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ปู่ยังขอร้องให้พ่อ คือ โฮเวิร์ด บัฟเฟตต์ ซึ่งตอนนั้นเพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ช่วยไปที่ห้องสมุดของสภาคองเกรส แล้วขอยืมหนังสือทุกอย่างเกี่ยวกับม้าแข่งมาให้แกอ่านหน่อย เนื่องจากห้องสมุดของคองเกรสมีหนังสือแทบจะทุกอย่างในโลกนี้
ทีแรกพ่อของแกก็ไม่ยอม โดยบอกว่า พ่อเป็น ส.ส. ใหม่ อยู่ๆ จะให้ไปยืมหนังสือม้าแข่ง แล้วคนเขาจะมองอย่างไร แต่สุดท้ายปู่ก็พูดหว่านล้อมจนพ่อยอมเอาหนังสือออกมาให้ (น่ารักดีนะครับ .. พ่อลูก)
พอได้หนังสือมากองเบ้อเริ่ม ปู่ก็เอามาอ่านแทบจะทุกเล่มทุกหน้า แล้วเอาทฤษฎีความรู้ที่ได้ตั้งเป็นสมมุติฐานแล้วลองไปทดสอบกับการแข่งขันม้าในสนามจริง
ปู่อธิบายการค้นพบของแก โดยบอกว่า นักเล่นม้านั้น มีอยู่สองจำพวก คือพวก “เน้นม้าเร็ว” กับพวก “เน้นม้าเก่ง” โดยพวกที่เน้นม้าเร็ว จะศึกษาสถิติที่ผ่านมาว่าม้าตัวไหนวิ่งเร็วที่สุดแล้วแทงตัวนั้น ส่วนพวกเน้นม้าเก่งจะดูว่าม้าตัวไหนเคยชนะม้าค่าตัวแพงๆ มาก่อน เช่น หากมันเคยชนะม้าค่าตัว 10,000 เหรียญ แล้วรอบนี้แข่งกับม้าค่าตัว 5,000 เหรียญ พวกเน้นม้าเก่งก็จะแทงม้ากลุ่มนี้ เพราะเชื่อว่ามันจะชนะ แม้ตัวมันเองจะไม่ใช่ม้าที่เร็วที่สุดก็ตาม
ปู่บอกว่า แกได้รับบทเรียนสองข้อจากสนามแข่งม้า ข้อแรกคือ ไม่มีใครกลับบ้านหลังจากแข่งจบรอบแรก และข้อสองคือ เราไม่จำเป็นต้องเอาเงินคืนในวิธีเดียวกับที่เราเสียมันไป เพราะสนามม้ามักทำเงินได้จากพวกที่ชนะแล้วเล่นไปเรื่อยๆ จนตัวเองแพ้ รวมทั้งพวกที่แพ้แล้วยังเล่นต่อไปเรื่อยๆ ด้วยความที่อยากจะได้เงินคืน
ที่น่าสนใจที่สุดก็คือ ปู่เอาบทเรียนทั้งสองข้อไปเปรียบเทียบกับการลงทุนในตลาดหุ้น แกบอกว่า นักลงทุนที่มีแต้มต่อ ต้องรู้จักทำตรงข้ามกับคนสองประเภทในสนามม้าดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
หากจะตีความคำพูดของปู่ อาจสรุปได้ว่า คนเป็นนักลงทุนต้องรู้ว่าเมื่อใดควรไปต่อ เมื่อใดควรหยุด และหากลงทุนผิดพลาดไป ก็อย่าดื้อรั้นดันทุรัง ต้องยอมรับความผิดพลาดแล้วแก้ไขมัน
สุดท้าย ปู่ยอมรับว่า ตัวแกเองก็เคย “ริ” ลองเล่นม้าและได้รับบทเรียนอันแสนเจ็บปวด เพราะเสียเงินแล้วหวังจะได้คืน จึงแทงไปเรื่อยๆ จนเงินหมดกระเป๋า เรียกได้ว่าต้องกลับไปส่งหนังสือพิมพ์อีกเป็นสัปดาห์ กว่าจะเอาเงินที่เสียไปกลับคืนมาได้ นั่นทำให้แกเข็ดหลาบและไม่คิดจะกลับไปทำผิดซ้ำรอยเดิมอีก
ทั้งหมดที่เล่า เป็นบทเรียนสำคัญแห่งชีวิตที่ปู่จำใส่ใจไว้เสมอ เมื่อเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น แกจึง “ทำตรงข้าม” กับความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นในสนามม้า
.. จนสามารถก่อร่างสร้างตัวเองขึ้นมา และประสบความสำเร็จดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
(ข้อมูลประกอบจากหนังสือ The Snowball)